การควบรวมกิจการของโรงกลั่นน้ำตาลในญี่ปุ่น และทิศทางการเติบโตในอนาคต
ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลดิบรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันมีปริมาณนำเข้าน้ำตาลดิบอยู่ที่ประมาณ 1.0 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 55% ของความต้องการบริโภคในประเทศ เสริมด้วยผลผลิตน้ำตาลดิบจากเกษตรกรญี่ปุ่นซึ่งมีปริมาณอยู่ที่ 800,000 ตันต่อปี โดย 80% ของผลผลิตน้ำตาลดิบในประเทศได้มาจากอุตสาหกรรมหัวผักกาดของจังหวัด ฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น และอีก 20% มาจากอ้อยที่เพาะปลูกในพื้นที่เขตร้อนของจังหวัดโอกินาว่าและคาโกชิม่า ญี่ปุ่นมีปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศโดยรวมอยู่ที่ราว ๆ 1.8 ล้านตัน
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำตาลของญี่ปุ่นมีการกระจายตัวอยู่ตามโรงกลั่นน้ำตาล 11 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 2.0 ล้านตัน ลักษณะการถือครองกรรมสิทธิ์ของโรงกลั่นน้ำตาลเหล่านี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน โดยโรงกลั่นน้ำตาลหลายแห่งมีผู้ถือหุ้นอยู่หลายฝ่าย ซึ่งส่วนมากจะเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจซื้อมาขายไปของญี่ปุ่น และมีโรงงานบางแห่งที่อยู่ภายใต้การบริหารร่วมกันของบริษัทน้ำตาลมากกว่าหนึ่งราย (ผู้เป็นเจ้าของตราสินค้า) เพื่อประหยัดต้นทุนด้วยการผลิตน้ำตาลเป็นจำนวนมากจนถึงจุดคุ้มทุน
อุตสาหกรรมกลั่นน้ำตาลของญี่ปุ่นสามารถสร้างผลกำไรได้ค่อนข้างสูง และบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจนี้ก็ให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นอย่างงดงามตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของญี่ปุ่นได้เดินหน้าส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและลดความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วยการรับซื้อน้ำตาลดิบนำเข้าจากโรงกลั่นน้ำตาลตามราคาซื้อขายในตลาดโลกก่อนจะขายน้ำตาลดิบคืนให้กับโรงกลั่นน้ำตาลเหล่านั้นในราคาที่สูงกว่าแต่มีความนิ่งกว่าเมื่อเทียบกับราคาที่เคลื่อนไหวขึ้นลงค่อนข้างแปรปรวนในตลาดโลก ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำตาลสามารถประเมินต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตและราคาขายในตลาดญี่ปุ่นได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณเกือบ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อตัน เพิ่มโอกาสในการทำกำไรจากส่วนต่างของการกลั่นน้ำตาล สำหรับปริมาณน้ำตาลดิบส่วนเกินอันเกิดจากการนำเขาของรัฐบาลก็จะถูกนำไปจัดจำหน่ายต่อเพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ
ทั้งนี้แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลในระยะยาวของญี่ปุ่นได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากจำนวนประชากรที่หดตัวและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงการมีผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำตาลที่เป็นทางเลือกเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยของแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลที่อ่อนตัวลง ประกอบกับกำลังการผลิตในประเทศที่ทรงตัวในระดับเดิมจึงส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำตาลดิบของญี่ปุ่นค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง
ด้วยสถานการณ์ของผู้บริโภคน้ำตาลในประเทศและราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นการผลักดันให้อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องหันมาควบรวมกิจการกันเพื่อให้สามารถดำเนินงานและบริหารธุรกิจได้อย่างคุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไป
ในเดือนเมษายน ปี 2021 บริษัท Mitsui และ Mitsubishi ได้ควบรวมกิจการกลั่นน้ำตาลของบริษัทในเครือทั้งสองแห่งคือ Mitsui Sugar กับ Dai Nippon Meiji ซึ่งต่างก็เป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยหลังจากควบรวมกิจการกันแล้วก็ได้ก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ Mitsui DM Sugar ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดโรงกลั่นน้ำตาลในญี่ปุ่นถึง 40% และในบริษัทแห่งใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นนี้ ทาง Mitsui เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 26.5% ในขณะที่ Mitsubishi ถือหุ้นในสัดส่วน 20.0%
และในขณะนี้ก็กำลังมีการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มบริษัทโรงกลั่นน้ำตาลรายใหญ่อีกสองกลุ่มคือ ITOCHU Sugar กับ Nissin Sugar โดยบริษัทใหม่ที่มีกำหนดการจัดตั้งขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ปี 2023 จะถือเป็นบริษัทน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของญี่ปุ่นจากการครองส่วนแบ่งการตลาดที่ระดับ 30% โดยในบริษัทแห่งใหม่ที่กำลังจะก่อตั้งนี้ ทาง ITOCHU Corporation จะเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 35.9% ในขณะที่ Sumitomo Corporation จะถือหุ้นในสัดส่วน 24.1%
ทั้งบริษัท DM Sugar และบริษัทร่วมแห่งใหม่ของ ITOCHU-Nissin จะเข้าไปจดทะเบียนบนตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในหมวดหมู่อุตสาหกรรม “ดาวเด่น” ซึ่งเป็นการจัดประเภทหุ้นแบบใหม่ที่ประกอบไปด้วยบรรดาบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น
ทาง Czarnikow มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ Koji Yamamoto ผู้ดำรงตำแหน่งประธานใหญ่ของบริษัท ITOCHU Sugar จำกัดขณะที่ได้มาเยี่ยมเยือนกรุงลอนดอนในเดือนตุลาคม ซึ่งคุณ Yamamoto ได้เล่าให้ฟังว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นกับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ครับ บริษัทใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง ITOCHU Sugar กับ Nissin Sugar มีวัตถุประสงค์ในการยกระดับมูลค่าทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกฝ่ายด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแทนน้ำตาลออกมาเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคครับ”
การควบรวมกิจการในลักษณะนี้จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของญี่ปุ่นเนื่องจากจะเกิดพลังผนึกระหว่างบริษัทสองแห่งที่จะเข้ามาเสริมความได้เปรียบให้กันและกันทั้งในมิติของพื้นที่การจัดส่งสินค้า กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย ส่งผลให้กระบวนการนำเข้าน้ำตาลดิบของประเทญี่ปุ่นมีความคุ้มค่ามากขึ้น ด้วยนโยบายด้านกฎหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นในปัจจุบัน ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำตาลรายใหม่จะทำหน้าที่ป้อนผลิตภัณฑ์น้ำตาลคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาดของญี่ปุ่นด้วยปริมาณที่พอดีกับความต้องการบริโภคในประเทศ การควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมน้ำตาลจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจน้ำตาลของญี่ปุ่นและเป็นการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต