น้ำตาลบุรีรัมย์ พลิกวิกฤตราคาน้ำตาล ดัน 3 โครงการเพื่อต่อยอดธุรกิจ หวังการเติบโต
เมื่อมองถึงทิศทางขาลงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ตาม ‘อุปสงค์’ (Demand) หรือความต้องการตามสภาวะเศรษฐกิจ และ ‘อุปทาน’ (Supply) หรือความสามารถในการผลิต ซึ่งมีผลต่อการกำหนด ‘ราคา’ และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่อยู่ในวัฏจักร คือ ‘อุตสาหกรรมน้ำตาล’
‘อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ’ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากว่าผลผลิตอ้อยทั่วโลกมีปริมาณมาก ซึ่งก็เป็นวัฎจักรของพืชผลทางการเกษตร สะท้อนภาพจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีปริมาณน้ำตาลทั่วโลกออกมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเทศ ไทย , อินเดีย และบราซิล เนื่องจากสภาพอากาศมีฝนค่อนข้างดี
หากดูตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 2 ปี (2560-2561) พบว่า บริษัทมี ‘กำไรสุทธิ’ ลดลงอยู่ที่ 524.73 ล้านบาท และ 271.62 ล้านบาท ขณะที่ ‘รายได้’ อยู่ที่ 5,928.18 ล้านบาท และ 5,916.67 ล้านบาท ตามลำดับ
ฉะนั้น ในแผนธุรกิจของ ‘น้ำตาลบุรีรัมย์’ จึงจำเป็นต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการพยายามปรับตัวให้หนีจากสินค้าประเภท ‘คอมมูนิตี้’ (Commodities) บ่งชี้จากในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้หลักๆ ของบริษัทจะอยู่ที่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลราว 70-80% (แล้วแต่ราคาน้ำตาล) จึงผลักดัน 3 โครงการ เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หวังสร้างการเติบโตครั้งใหม่ มีธุรกิจหลักดังนี้
‘โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์’ คือเปลี่ยนน้ำตาลทรายดิบให้เป็นน้ำตาลคุณภาพให้เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม โดยบริษัทเริ่มดำเนินการทดลองเดินเครื่องผลิตแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งปกติบริษัทจะจำหน่ายน้ำตาลทราบดิบอยู่ที่ 60-90 ดอลลาร์ต่อตัน ในตลาดคอมมูนิตี้ของประเทศสหรัฐ แต่น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จะจำหน่ายเข้าไปในตลาดลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งบริษัทจะมีรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้น
‘โครงการประหยัดพลังงาน’ เพื่อต้องการลดการใช้พลังงานในโรงงานน้ำตาล เพื่อให้มีปริมาณเหลือกากอ้อยมากขึ้น ตามแผนของเราจะมีกากอ้อยเหลือราว ‘แสนกว่าตัน’ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าหีบอ้อยต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก็จะทำให้มีปริมาณกากอ้อยมากขึ้น เพื่อที่จะไปซับพอร์ตธุรกิจโรงไฟฟ้า
และ ‘โครงการโรงงานผลิตภาชนะทดแทนโฟม-พลาสติก’ ซึ่งผลิตจากชานอ้อย เช่น จาน , ชาม , แก้วน้ำ เป็นต้น โดยจะเริ่มผลิตออกมาช่วงเดือนส.ค.นี้ ซึ่งในช่วงเฟสแรกจะมี 14 ไลน์ผลิต จำนวนผลิตได้ 850,000-1,000,000 ชิ้นต่อวัน มูลค่าการลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ชัดเจนไตรมาส 4 ปี 2562
โดยปัจจุบันมี ‘คำสั่งซื้อ’ (ออเดอร์) เข้ามาแล้วจากลูกค้าต่างชาติประมาณ 80-90% แล้ว ซึ่งมีราคาต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 0.10-0.11 บาทต่อกรัม ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีทั้งหมด 4 เฟส หรือผลิตได้ประมาณ 4 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเฟสที่ 2 คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2563 เบื้องต้นใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกจำนวน 100 ล้านบาท
‘เราพยายามเร่งติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งมีตลาดหลักๆ ในต่างประเทศโดยเฉพาะ สหรัฐและสหภาพยุโรป และต้องการขายในประเทศ 10% โดยมีเป้าหมายอยากเป็นผู้นำในธุรกิจดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าเราทำได้เพราะว่าเรามีวัสดุต้นน้ำ (กากอ้อย) ฉะนั้น ต้นทุนการผลิตเราต่ำกว่าคู่แข่งมากเราขีดความสามารถในการแข่งขันเราสู้ได้อยู่แล้ว’
ทั้งนี้ปี 2561/2562 บริษัทมีพื้นที่การปลูกอ้อยจำนวน 238,000 ไร่ สามารถปลูกอ้อยได้จำนวน 2,931,277 ล้านตัน ซึ่งผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณ 353,349 ตัน และขายเป็นน้ำตาลทรายดิบได้ 137,443ตัน ส่วนในปี 2562/2563 มีพื้นที่การปลูกอ้อยจำนวน 238,000 ไร่ สามารถปลูกอ้อยได้จำนวน 3,100,000 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณ 350,000 ตัน และจะขายเป็นน้ำตาลทรายดิบได้ 140,000 ตัน
ส่วนการลงทุนปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลแห่งใหม่กับพาร์ทเนอร์จำนวน 2-3 ราย ใช้งบลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดจะได้ข้อสรุปในปี 2563
‘อนันต์’ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าในปีที่ผ่านมากลุ่มของเราพัฒนาเพื่อไปต่อยอดโดยการนำบายโปรดักท์ที่มาจากโรงงานน้ำตาลไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 3 ล้านตัน เนื่องจากจะได้ไปรองรับธุรกิจที่ต่อเนื่องของเรา