รง.น้ำตาล ภาคอีสานขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ผลิตอ้อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กาฬสินธุ์เล็งเป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์ (Zero Burning) ในปีการผลิต 2564/2565 ด้วยแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562-2565 เพื่อลดปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย และผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุผลสำเร็จ พร้อมนำใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
ณ แปลงปลูกอ้อยของบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน เปิดงาน Kick off Burning เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมชมการสาธิตการใช้เครื่องสางใบอ้อย การตัดอ้อยสด และสาธิตการเก็บใบอ้อยแห้ง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 โดยมีเป้าหมาย “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน” ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ก็ได้จัดทำยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พ. ศ. 2562-2565 โดยมีวิสัยทัศน์เป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์หรือ Zero Burning ในปีการผลิต 2564 /2565
โดยยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2562-2565 ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ ดังนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและส่งเสริมเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปลูกอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมเทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสมในการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของเกษตรกรผู้ผลิตอ้อยสดและการบังคับใช้มาตรการทางสังคม/กฎหมาย
นายคำสี แสนสี ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “ในฤดูกาลผลิต 2564/2565 ทางโรงงานมีเป้าหมาย รายการเพิ่มอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ให้ได้ถึงร้อยละ 95 โดยเกษตรกรที่นำอ้อยสดมาขายจะได้ราคาที่สูงกว่า อ้อยไฟไหม้ถึงร้อยละ 30 และโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ก็ได้มีการรับซื้อใบอ้อยแห้งและฟางข้าว ในราคาตันละ 1,000 บาท ทั้งนี้เพื่อลดการเผาไร่อ้อยและฟางข้าว ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่ และเป็นการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 และโรงงานได้มีมาตรการตรวจฝุ่นและควันดำ รถบรรทุกอ้อยทุกคัน”
ด้านนายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.กาฬสินธุ์ นายทูน ไชยดำ กล่าวว่า เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ในการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้ฝากถึงสมาชิกในสมาคมชาวไร่อ้อยด้วยกัน คืออย่าได้เผาอ้อย เพราะนอกจากจะทำความหวานลดลง น้ำหนักลดลงแล้ว ราคายังต่ำกว่าอ้อยสด และเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม 2,325,095 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 53.55 ของพื้นที่จังหวัด และมีพื้นที่ปลูกอ้อยป้อนโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 400,000 ไร่ (ในระบบฐานข้อมูลของโรงงานอ้อยและน้ำตาลโดยประมาณ 200,000 ไร่) มีสัดส่วนอ้อยสดร้อยละ 46.9 หรือ 187,500 ไร่ มีอ้อยไฟไหม้คิดเป็นร้อยละ 53.1 หรือ 212,500 ไร่ ดังนั้น จังหวัดกาฬสินธุ์จึงมีพื้นที่การผลิตอ้อยไฟไหม้ถึง 212,500 ไร่ ทำให้เกิดฝุ่นละอองจากการเผาอ้อยประมาณ 1,765-12,352 ตัน/ปี จึงได้กำหนดจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562-2565 อย่างเป็นรูปธรรมโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการระดมความคิดเห็น การนำเสนอข้อมูล และข้อเสนอแนะต่อยุทธศาสตร์ เพื่อให้หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป