สอน. เปิดตัวอ้อยส่งเสริม 4 สายพันธุ์ใหม่ ทางเลือกใหม่เพื่อทดแทนอ้อยพันธุ์เดิม
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย มีการพัฒนามาหลายปี จนมีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทำให้ทุกวันนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล โดย ‘อ้อย’ เป็นหัวใจหลักของการพัฒนา มีการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพ ก่อนส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เปิดตัวการพัฒนา พันธุ์อ้อยส่งเสริม 4 สายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า ฝอยทอง (AA142224-028) ทองเอก (CSB11-303) ทองหยอด (CSB11-612) และทองหยิบ (CSB11-615) เผยลักษณะพันธุ์อ้อยส่งเสริมใหม่มีจุดเด่น ให้ผลผลิตดี ค่าความหวานสูง 13-14 ซีซีเอส เหมาะสำหรับปลูกภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง อยู่ระหว่างขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณ คาด 1-2 ปี เกษตรกรได้ปลูกครอบคลุมทั่วประเทศไทยแน่นอน
‘พันธุ์อ้อย’ คือ จุดเริ่มต้นความสำเร็จของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เนื่องจากพันธุ์อ้อยเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน และเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด หากพันธุ์อ้อยดี ก็สามารถให้ผลผลิตและคุณภาพสูง ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกได้ โดยภาครัฐมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการวิจัยสายพันธุ์อ้อยใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการมาทดแทนอ้อยสายพันธุ์เดิม ๆ ดังนั้น ทาง Sugar Asia จึงได้รับเกียรติจาก คุณประสิทธิ์ วงษาเทียม ผู้อำนวยการกองอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และคุณธวัช หะหมาน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาด้านอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมพูดคุยถึงที่มาของการพัฒนาพันธุ์อ้อยส่งเสริม 4 สายพันธุ์ใหม่ พร้อมทิศทางในอนาคตสำหรับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยของ สอน. ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับโลก
ความเป็นมาการวิจัยอ้อยพันธุ์ส่งเสริม 4 สายพันธุ์ใหม่
คุณธวัช เปิดเผยว่า โดยปกติแล้ว การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยแต่ละครั้ง ใช้เวลา 12-14 ปี กว่าจะคัดเลือกได้อ้อยสายพันธุ์ที่เหมาะสมนำมาส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยนำไปปลูกได้สักหนึ่งสายพันธุ์ แต่ สอน. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พัฒนาองค์ประกอบความรู้ต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงพันธุ์อ้อย สามารถลดระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์ลงเหลือ 8-10 ปี จนได้อ้อยสายพันธุ์ใหม่ มาทดแทนอ้อยสายพันธุ์เดิมที่เริ่มมีปัญหาความอ่อนแอต่อโรคและศัตรูอ้อยต่าง ๆ และสอดคล้องกับความต้องการอ้อยสายพันธุ์ใหม่ของชาวไร่อ้อยด้วย
อดีตที่ผ่านมา พันธุ์อ้อยที่ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยปลูกมีไม่มากนัก ชาวไร่อ้อยไม่มีทางเลือกมาก ปลูกช่วงหนึ่ง พบว่าพันธุ์อ้อยเหล่านี้ ไม่สามารถให้ผลผลิตและคุณภาพได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากอ้อยไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกพื้นที่ได้ ประกอบกับมีความเสี่ยงต่อโรคและแมลงศัตรูอ้อย ความต้องการอ้อยพันธุ์ใหม่มาทดแทนอ้อยพันธุ์เดิม จึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ล่าสุด คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 เห็นชอบให้ประกาศพันธุ์อ้อยส่งเสริมใหม่ 4 สายพันธุ์ โดยมีการตั้งชื่ออ้อยเป็นหมวดหมู่ขนมหวานไทย ให้จำชื่อพันธุ์ได้ง่าย และสามารถสื่อถึงความหวานได้ด้วย
ความโดดเด่นของอ้อยพันธุ์ส่งเสริม ตัวเลือกใหม่ที่ดีแก่เกษตรกร
พันธุ์แรกที่พัฒนาขึ้นมาคือ ‘ฝอยทอง’ หรือ AA142224-028 เป็นลูกผสมของ K84-200 x 85-2-352 ค่าความหวาน 12.5-13.5 ซีซีเอส ปลูกได้ในสภาพดินร่วนปนทราย ไม่เหมาะกับพื้นที่ลุ่ม แต่เหมาะสมกับพื้นที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ออกดอก ไม่หักล้ม เก็บเกี่ยวได้ง่าย เหมาะสมกับภาคอีสาน ถ้าปลูกในเขตน้ำฝน จะได้ผลผลิตประมาน 20 ตันต่อไร่ และเขตชลประมาน จะได้ผลผลิต 25 ตันต่อไร่
พันธุ์ที่สองคือ ‘ทองเอก’ หรือ CSB11-303 เป็นลูกผสมเปิดของ H47-4991 ค่าความหวาน 13-14 ซีซีเอส ปลูกได้ในสภาพที่ดินร่วนเหนียว กับดินร่วนทราย ไม่ออกดอก ไม่หักล้ม เหมาะสมกับพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ ให้ผลผลิต 18-20 ตันต่อไร่
พันธุ์ที่สามคือ “ทองหยอด” หรือ CSB11-612 เป็นลูกผสมเปิดของ K99-209 ค่าความหวาน 12-13 ซีซีเอส ปลูกได้ในสภาพดินร่วนเหนียว ไม่หักล้ม ไม่ออกดอก อาจไม่เหมาะกับภาคอีสาน ให้ผลผลิต 18-20 ตันต่อไร่
พันธุ์ที่สี่ คือ “ทองหยิบ” หรือ CSB11 – 615 เป็นลูกผสมเปิดของ K99-209 ค่าความหวาน 12-13 ซีซีเอส ไม่หักล้ม ไม่ออกดอก ปลูกได้ในสภาพดินร่วนเหนียว อ่อนแอปานกลางต่อเหี่ยวเน่าแดง ต้องเป็นพื้นที่ระบายน้ำได้ดี ให้ผลผลิตจำนวน 16-18 ตันต่อไร่
สอน. หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนการวิจัยพันธุ์อ้อยในประเทศไทย
“สอน. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์อ้อย พร้อมส่งเสริมพันธุ์อ้อยให้แก่ชาวไร่ เพื่อประโยชน์ของวงการอุตสาหกรรมอ้อยในประเทศไทย โดยพันธุ์อ้อยที่ชาวไร่อ้อยใช้ผันเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและความนิยม จากพันธุ์ K88-92 มาเป็น LK92-11 และปัจจุบันก็เป็นพันธุ์อ้อยขอนแก่น 3 ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งชาวไร่อ้อยใช้มากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศในปัจจุบัน” คุณประสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีการปลูกอ้อยเพียงชนิดเดียวในทุกพื้นที่ ก็จะเสี่ยงต่อปัญหาของโรคหรือแมลงศัตรูอ้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบจำนวนอ้อยเข้าหีบ และมีผลต่อการผลิตน้ำตาลในระดับประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาพันธุ์อ้อยใหม่เข้ามารองรับ เพื่อให้ชาวไร่อ้อยเลือกใช้ปลูกในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อทดแทนอ้อยสายพันธุ์เดิม อันจะเป็นช่องทางในการสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
ทิศทางในอนาคตสำหรับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยของ สอน.
คุณประสิทธิ์ กล่าวว่า “นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มอบนโยบายการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยพร้อมการส่งเสริมพันธุ์อ้อยของ สอน. เป็นแนวทางการปฏิบัติงาน โดยให้มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย และให้ใช้นวัตกรรมใหม่มาลดรอบเวลาในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยจาก 12-14 ปีให้เหลือ 8-10 ปี พร้อมคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่มีลักษณะโดดเด่นในด้านการให้ผลผลิตและคุณภาพที่สูงขึ้นกว่าอ้อยพันธุ์เดิม ประกอบกับต้องเป็นพันธุ์อ้อยที่รองรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและแนวโน้มการลดลงของแรงงานในภาคการผลิตอ้อย และลดการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวให้เหลือศูนย์ (zero burn) ร่วมกับการผลิตอ้อยภายใต้เงื่อนไขที่สภาพแวดล้อมแปรปรวน ทั้งแล้งและน้ำท่วม นอกจากนั้น ในอนาคตอาจมุ่งเน้นไปสู่อุตสาหกรรมทางเลือกอื่น เช่น อ้อยเพื่อการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล มุ่งเน้นมวลชีวภาพ (biomass) นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายชาวไร่อ้อยที่ร่วมเรียนรู้เรื่องพันธุ์อ้อย และเครือข่ายการกระจายพันธุ์อ้อยที่เป็นผู้ประกอบการ และร่วมมือกับโรงงานน้ำตาล ในการกระจายอ้อยพันธุ์ใหม่ ให้ชาวไร่อ้อยทั่วไปสามารถใช้เพื่อการปลูกขยายทดแทนอ้อยพันธุ์เดิมได้อย่างทั่วถึง”
กล่าวได้ว่า อ้อยพันธุ์ส่งเสริม 4 สายพันธุ์ใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยของ สอน. ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยวิชาการ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อเป็นตัวเลือกใหม่ให้แก่ชาวไร่อ้อยนำไปปลูก ก่อนที่อุตสาหกรรมอ้อยของไทยจะล่มสลายไปเนื่องจากพันธุ์อ้อยที่ปลูกในประเทศไม่มีความหลากหลาย
ดังนั้น หากชาวไร่อ้อยท่านใด หรือโรงงานน้ำตาล สนใจพันธุ์ส่งเสริมนี้ ทาง สอน. มีแผนที่จะขยายพันธุ์ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยอยู่แล้ว โดยได้เพิ่มปริมาณร่วมกับชาวไร่อ้อยเครือข่าย และโรงงานน้ำตาล เพื่อทำการขยายพันธุ์ให้ได้อย่างเพียงพอ คาดว่าไม่เกิน 2-3 ปี ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศจะสามารถเข้าถึงพันธุ์อ้อยส่งเสริมได้อย่างทั่วถึง