อินเดียขึ้นสู่ผู้นำฮับส่งออกน้ำตาลทั่วโลก
องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) กำลังส่งเสริมให้ประเทศอินเดียเป็นศูนย์กลางการส่งออกน้ำตาลแก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่าน บังกลาเทศ หรือพม่า เนื่องจากตลาดน้ำตาลโลกกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนในฤดูกาลนี้ ทางองค์กรมั่นใจว่าการผลักดันดังกล่าวจะช่วยพัฒนาตลาดน้ำตาลโลกในหลายๆแห่ง และรัฐบาลอินเดียจะเพิ่มอัตราการส่งออกสินค้านี้ได้มากขึ้น
นายจูเซ โอรีฟวึช ผู้อำนวยการบริหารขององค์การฯ แถลงต่อสื่อชั้นนำ Indian Express ว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปเพื่อ “เสริมกำลังให้สต็อคน้ำตาลโลกและเพิ่มราคาน้ำตาลทั่วโลก” ในงานประชุมนานาชาติครั้งที่สอง ซึ่งจัดโดยสถาบันน้ำตาลวสันต์ดาดาในเมืองพูน เขาชี้ว่าเกิดภาวะขาดแคลนการผลิตน้ำตาลทั่วโลกถึงห้าล้านห้าแสนตันในฤดูกาลนี้ “ในขณะที่การบริโภคน้ำตาลมีจำนวน 176.5 ล้านตัน การผลิตในฤดูกาลนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 170.4 ล้านตันเท่านั้น” นายจูเซเสริม สถานการณ์นี้ถือเป็นการขาดแคลนน้ำตาลปีแรกหลังจากที่มีน้ำตาลล้นตลาดถึงสองปี คือ ระหว่างปี 2560-2561 และ 2561-2562
จากการคาดการณ์ขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) การส่งออกน้ำตาลสำหรับปี 2562-2563 อาจอยู่ที่ประมาณ 58.5 ล้านตันซึ่งต่ำกว่าอัตราที่บันทึกไว้คือ 66.32 ล้านตันในปี 2558-2559 อินเดียมีน้ำตาลคงคลัง 8-10 ล้านตันจึงถือว่าเป็นจำนวนที่สูงเกินไป ดังนั้นองค์การฯ จึงส่งเสริมให้อินเดียเป็นสถานที่ส่งออกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น อิหร่าน บังกลาเทศ และเมียนมาร์ “ขณะที่การส่งเสริมนี้จะช่วยเติมกำลังแก่คลังน้ำตาลในอินเดีย จะยิ่งช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้ตลาดโลกด้วยการเพิ่มจำนวนอุปทานให้มากขึ้นไปอีก” นายจูเซกล่าวและเสริมว่าคลังน้ำตาลในอินเดียกำลังเป็นที่ที่ทำให้ราคาน้ำตาลมีราคาถูกลงอีกด้วย
รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลจำนวนหกล้านตันระหว่างปี 2562-2563 ภายใต้โควตาการส่งออกสูงสุดที่อนุญาตได้เพื่อลดการสะสมของน้ำตาลที่มากเกินไปในประเทศ หลังจากช่วงไตรมาสแรกของฤดูกาลน้ำตาลในเดือนตุลาคม ผู้ผลิตน้ำตาลจากอุตระประเทศซึ่งเป็นรัฐที่ผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียได้ทำสัญญาส่งออกถึงร้อยละ 70-80 ซึ่งเป็นโควตาที่รัฐนี้อนุญาต แต่ผู้ผลิตน้ำตาลในเมืองมหารัชตะทำสัญญาส่งออกน้ำตาลเพียงร้อยละ 25 ของโควตาส่งออกสะสมของตนเอง
วิเวก ปิติ ประธานของสมาพันธ์โรงงานน้ำตาลแห่งอินเดีย และเป็นผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลหรินคราในเมืองบิฮาร์กล่าวว่า “โรงงานน้ำตาลหลายแห่งในภาคเหนือของประเทศอาจเปิดให้ส่งออกด้วยโควตาที่สูงขึ้น โรงงานของผมทำสัญญาส่งออกถึงร้อยละ 95 และอาจมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีรายการสินค้าสูง นอกจากนั้น เรามีปัญหาการเก็บสินค้าและต้องการขายสินค้าในสต็อคอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณภาพของน้ำตาลจะด้อยค่าลงเมื่อเราเก็บไว้นานขึ้นจนเราต้องลดราคาขายในที่สุด”
ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้ทำการเพิ่มการผลิตเอทานอลและซื้อน้ำตาลถึงสิบล้านตันจากตลาด ในฤดูกาลนี้ โรงงานผลิตน้ำตาลของบราซิลเริ่มทำงานในเดือนเมษายน ราคาน้ำตาลและน้ำมันระหว่างประเทศจะกำหนดปริมาณอ้อยที่ใช้เพื่อผลิตตัวเสริมสำหรับเชื้อเพลิง หากราคาน้ำตาลดิบเพิ่มมากขึ้นถึง 15 เซนต์ต่อปอนด์ นายจูเซกล่าวว่าบราซิลอาจเลือกผลิตน้ำตาลแทนเอทานอลก็เป็นได้
การส่งออกจากอินเดียเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากมีการลงนามในสัญญาสำหรับส่งออกผลิตภัณฑ์เพิ่มความหวานประมาณสองล้านแปดแสนตัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ผลิตจากโรงงานน้ำตาลในอุตระประเทศ และองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศเริ่มสื่อสารกับรัฐบาลในหลายๆ ประเทศเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลเพราะการบริโภคน้ำตาลจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ สร้างความกังวลให้แก่ภาคการผลิตนี้ นอกจากนั้น ทวีปยุโรปฝั่งตะวันตกและภาคกลางมีรายงานว่าการบริโภคน้ำตาลต่ำลงเนื่องจากรัฐบาลกำลังใช้ภาษีน้ำตาลเพื่อลดการบริโภคอีกด้วย