อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย พร้อมเดินหน้ามั่นใจไม่ขาดแคลน
สอน. หรือ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับบริโภคในประเทศไม่ขาดแคลนแน่นอน ดำเนินการจัดสรรน้ำตาลรองรับถึง 2.5 ล้านตัน ประมาน 25 ล้านกระสอบ มั่นใจเพียงพอต่อการบริโภค พร้อมจับตาดูโควิด-19 ทำเศรษฐกิจชะลอ คาดว่าจะทำให้การบริโภคอยู่ที่เพียง 2.4 ล้านตันเท่านั้น เผยปีนี้มีอ้อยสดส่งเข้าโรงงานคิดเป็น 50.3% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา พร้อมติดตามสถานการณ์ผลผลิตการเกษตรเพื่อเกษตรกรชาวไทย
นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มั่นใจว่าปริมาณน้ำตาลทรายที่จัดสรรไว้บริโภคในประเทศปี 62/63 จำนวน 2.5 ล้านตัน หรือ 25 ล้านกระสอบจะเพียงพอต่อความต้องการการบริโภคของคนไทยโดยไม่ขาดแคลน เนื่องจากคาดว่าปีนี้จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จึงคาดว่าจะทำให้การบริโภคน้ำตาลทรายของไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านตัน
“สอน.ยืนยันว่าปริมาณน้ำตาลทรายปีนี้จะเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน โดยในส่วนของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หรือร้านค้าสะดวกซื้อเองก็ได้เตรียมพร้อมในการวางจำหน่ายให้เพียงพออยู่แล้ว และหากที่สุดมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น สอน.ก็สามารถบริหารจัดการที่จะนำปริมาณสำรองหรือการจัดสรรน้ำตาลสำหรับการส่งออกมาดูแลได้” นายเอกภัทรกล่าว
สำหรับการเปิดหีบปี 62/63 ตั้งแต่ ธ.ค. 62 มาจนถึงขณะนี้ คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ราว 74.9 ล้านตันลดลงจากฤดูหีบที่แล้วประมาณ 56 ล้านตัน หรือคิดเป็นการลดลง 42-43% ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลทรายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.2-8.4 ล้านตัน ซึ่งโรงงานน้ำตาลจำนวน 56 โรงงานปิดหีบแล้ว เหลือเพียงโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์แห่งเดียวเท่านั้น คาดว่าจะปิดหีบอ้อยมีนาคมนี้ โดยการเปิดหีบอ้อยที่ผ่านมาพบว่าปีนี้มีอ้อยสดส่งเข้าโรงงานคิดเป็น 50.3% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนอ้อยสดส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลเพียง 38-39% ของผลผลิตอ้อยที่ส่งเข้าหีบทั้งหมด ซึ่งช่วยลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหามลภาวะในอากาศให้ลดน้อยลงได้อีกทางหนึ่ง
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า รัฐได้มีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศไว้ 25 ล้านกระสอบ (2.5 ล้านตัน) และยังสำรองไว้อีก 2 ล้านตัน จึงมั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนแต่อย่างใดเพราะการใช้น้ำตาลปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อนตามทิศทางเศรษฐกิจ ขณะที่สถานการณ์น้ำตาลทรายตลาดโลกนั้นบราซิลเริ่มนำน้ำตาลทรายออกมาจำหน่ายในปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่ตกต่ำทำให้บราซิลลดการนำน้ำตาลทรายไปผลิตเอทานอล
“น้ำตาลทรายดิบราคาโลกเฉลี่ยมาอยู่ที่ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากต้นปีเฉลี่ย 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ เหตุที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกซึ่งมีผลให้ราคาน้ำมันลดต่ำ บราซิลที่เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกลดการนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมาผลิตน้ำตาลแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นในระดับราคาต่ำ เพราะบราซิลได้เปรียบค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างหนักจากเดิม 3.8 เรียลต่อดอลลาร์ขณะนี้มาอยู่ที่ 5.11 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากยังคงระดับนี้ไปนานๆ อาจมีผลต่อทิศทางราคาอ้อยในฤดูถัดไปให้ตกต่ำได้อีกครั้ง” นายวีระศักดิ์กล่าว
สำหรับผลผลิตสินค้าทางการเกษตร นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การตื่นกลัวต่อภาวการณ์ขาดแคลนอาหารและการกักตุนอาหาร นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าในประเทศแน่นอน พร้อมสั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์ผลิตสินค้าและบริหารสินค้าเกษตรใกล้ชิด รวมทั้งให้เพิ่มช่องทางการนำสินค้าเกษตรสู่ตลาด Online ให้มากขึ้น และเตรียมความพร้อมรองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร (Labor migration) จากการปิดสถานประกอบการต่างๆ โดยกรมชลประทานเป็นหลักดำเนินการจ้างงาน
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยมอบหมายให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแลและทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน โดยประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเห็นตรงกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ขาดแคลน สามารถเร่งการผลิตได้เต็มที่ เพราะปัจจุบันเดินเครื่องการผลิตเพียง 60%
ดังนั้น จากการคาดการณ์ Supply Chain ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตการเกษตร ยืนยันไม่ขาดแคลนสินค้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศ กรณีมีการ lock down 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2563 ได้แก่ข้าว สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มะพร้าว และอ้อยโรงงาน ทั้งนี้ จากการระบาดของโรค COVID-19 เชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรที่สำคัญ ในปี 2563 มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน