อ้อยอินทรีย์ สู่น้ำตาลออร์แกนิค ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้สู่เกษตรกรไร่อ้อย
กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ไร้สารพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้บริโภคทั่วโลก เช่นเดียวกับผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำของวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลประเทศไทยอย่าง “กลุ่มวังขนาย” ที่ได้ตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภค โดยหันมาส่งเสริม “เกษตรกรแปลงใหญ่อ้อยโรงงานอินทรีย์” ในพื้นที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า “น้ำตาลออร์แกนิค” ส่งออกจำหน่ายทั้งในประเทศร้อยละ 75 และอีกร้อยละ 25 ส่งออกต่างประเทศ การันตีด้วยรางวัลมาตรฐานระดับนานาชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกร เข้าร่วมกับโรงงานอ้อยและน้ำตาลกลุ่มวังขนายทำเกษตรพันธสัญญา ปรับเปลี่ยนการทำอ้อยโรงงานแบบใช้สารเคมี มาเป็นการปลูกอ้อยแบบอินทรีย์
เพื่อพูดคุยถึง “แปลงใหญ่อ้อยโรงงานอินทรีย์” ที่ได้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมจนถึงทุกวันนี้ ทาง Sugar Asia ได้รับเกียรติจาก คุณเพชรชูชัย เพชรล้ำ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาอ้อยโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น. กลุ่มวังขนาย เพื่อสัมภาษณ์ถึงการบริหารจัดการในแปลงไร่อ้อยโรงงานอินทรีย์จนกลายมาเป็นพืชที่มีอนาคตสดใสสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพราะสามารถยกระดับรายได้ หมดกังวลเรื่องต้นทุนเพาะปลูกสูง และปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในดิน ปลอดภัยและสุขภาพดีทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรชาวไร่อ้อย
“ทางกลุ่มวังขนาย มีความตั้งใจอยู่แล้ว ที่จะเป็นต้นแบบแปลงใหญ่อ้อยอินทรีย์ในอนาคต เพื่อให้องค์ความรู้และพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์กระจายเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างต่อไป ”
คุณเพชรชูชัย กล่าว
ประโยชน์ของเกษตรแปลงใหญ่อ้อยโรงงานอินทรีย์
การทำเกษตรแปลงใหญ่อ้อยอินทรีย์ ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และที่สำคัญที่สุดยังดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสมาชิกในโครงการไม่มีการใช้สารเคมีใส่ลงไปในดิน เมื่อฝนตกชะล้างหน้าดินจึงไม่มีสารเคมีไหลลงแม่น้ำ ลำคลอง ไม่มีการเผาอ้อยก่อนตัด ไม่มีการเผาใบ หรือซากอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ไว้ตออ้อยได้นานหลายปี เพราะกำไรของการทำไร่อ้อยมาจากอ้อยตอ
คุณเพชรชูชัย อธิบายว่า ในขั้นตอนเพาะปลูกอ้อยโรงงานอินทรีย์ เกษตรกรจะรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม ตั้งแต่การเตรียมดิน เตรียมพันธุ์อ้อย (สามารถยืมกันได้ และมีการใช้คืนในปีถัดไป) จัดสรรแรงงาน (สมาชิกมีการช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม) การตัดอ้อย (รถตัดอ้อย) ตลอดจนการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานฯ ทำให้การทำไร่อ้อยทันช่วงเวลา เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน หรือเกิดการรวมกันเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต และอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งมีราคาถูกลงเพราะซื้อเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
ส่วนการลงทุน เกษตรกรส่วนใหญ่จะเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนมาก มักเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการไถเตรียมดิน และกำจัดวัชพืช ปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูก และกากน้ำตาลมักจะได้รับจากโรงงานฯ แต่เกษตรกรบางคนก็มีการทำปุ๋ยน้ำหมักใช้เอง หรือรับเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ยสด และสาร พด. จากหน่วยงานราชการ (พด.2 กลุ่มจุลินทรีย์ ในการย่อยวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร)
ซึ่งจากการสำรวจของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 มีสมาชิกแปลงใหญ่ จำนวน 30 ราย พื้นที่ทั้งหมด 1,770.08 ไร่ ผลผลิตรวม จำนวน 16,178.53 ตัน/ปี ปีเพาะปลูก 2562/63 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 6,385 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 10 เดือน-1 ปี) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 10-15 ตัน/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,115 บาท/ไร่
ชูเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการผลิตอ้อยโรงงานอินทรีย์
การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดๆ มาเพาะปลูกอ้อย คุณเพชรชูชัยกล่าวว่า “เราเริ่มต้นจากการเตรียมแปลง การไถระเบิดดินดาน จุดประสงค์เพื่อไว้ตออ้อยได้นานหลายปี การปลูกอ้อยให้มีระยะห่างระหว่างร่องเพื่อรองรับรถตัดอ้อย และการใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กเข้ากำจัดวัชพืช เพราะเดิมในพื้นที่ไม่มีการไถระเบิดดินดาน และปลูกอ้อยร่องแคบประมาณ 1.0-1.2 เมตร และควรมีการปลูกพืชปุ๋ยสดระหว่างร่องอ้อย เพื่อบำรุงดินและควบคุมวัชพืช แทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และเน้นระบบการให้น้ำในไร่อ้อย ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในการให้น้ำเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันและไฟฟ้า”
ทางโรงงานฯ มีการขับเคลื่อนการผลิตอ้อยอินทรีย์ โดยวิธีการสนับสนุนองค์ความรู้และนวัฒกรรมใหม่ๆ แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่จัดส่งชาวไร่อ้อยเข้ารับการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และจัดอบรมที่โรงงานฯ โดยมีการเชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ รวมถึงการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือซื้ออุปกรณ์การเกษตรแบบผ่อนชำระ และมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมออกติดตามตรวจเยี่ยมแปลงทุกเดือน และมีการประชุมกลุ่มทุกๆ 3 เดือน เพื่อนำปัญหาและการแก้ไขปัญหามาถ่ายทอดภายในกลุ่ม โดยใช้สถานที่ของโรงงานฯเป็นที่จัดประชุม
สร้างต้นแบบ “โมเดลแปลงใหญ่อ้อยอินทรีย์ลพบุรี”
ทางกลุ่มวังขนาย มีความตั้งใจอยู่แล้วที่จะเป็นต้นแบบแปลงใหญ่อ้อยอินทรีย์ในอนาคต เพื่อให้องค์ความรู้และพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์กระจายเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างต่อไป เป็นแหล่งวัถตุดิบที่มีคุณภาพและไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้มีแผนขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอีกประมาณ 2,000 ไร่
“เราต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพราะพื้นที่การเกษตรพืชชนิดอื่น ที่ติดกับแปลงอ้อยอินทรีย์ของสมาชิก จะต้องปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยอินทรีย์ และพื้นที่แปลงนั้นจะต้องหยุดการใช้สารเคมีไม่ต่ำกว่า 36 เดือน ตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ซึ่งหากไม่เป็นแปลงอ้อยอินทรีย์แล้ว จะไม่สะดวกต่อการจัดการและการเข้าปฏิบัติกิจกรรมด้านไร่ในแต่ละครั้ง” คุณเพชรชูชัย กล่าว
ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มกว่าร้อยละ 37 จากการเพาะปลูกอ้อยโรงงานอินทรีย์แบบไร้สารเคมี หมดปัญหาสารพิษตกค้างในที่ดิน การันตีผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ 1) มาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป 2) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา 3) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศญี่ปุ่น 4) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศเกาหลี และ 5) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศแคนาดา จึงเป็นเครื่องการันตีและสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าและผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตอ้อยโรงงานอินทรีย์ของเกษตรกรได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง
ตอบรับกระแสบริโภคน้ำตาลออร์แกนิคมาแรง
ทุกวันนี้ ผู้คนมีความกังวลเป็นห่วงสุขภาพกันมากขึ้น จากการบริโภคอาหารและใช้ผลิตผลจากการเกษตร รองลงมาก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากปัจจุบันที่ยังมีการใช้สารเคมีอันตรายกันมาก ทำให้เป็นที่ยอมรับกันว่า อาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีที่สุด คืออาหารที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงกว่าผลผลิตจากการเกษตรแบบปกติ ผู้ที่มีฐานะดีหรือพอจ่ายได้จึงเต็มใจที่จะจ่ายซื้อสินค้าออร์แกนิค เพื่อสุขภาพในราคาพรีเมียม เช่น ผู้บริโภคในอเมริกา ยุโรป หรือบางประเทศทางเอเซีย แต่ประเทศที่ตอบรับกระแสน้ำตาล
ออร์แกนิคมากที่สุด ตามมูลค่าตลาดโลกแบ่งตามพื้นที่ คือ ยุโรป 39% (อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน) รองลงมา คือ อเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา แคนาดา) และ เอเซีย-แปซิฟิค (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์)
“น้ำตาลออร์แกนิคก็เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลปกติ ปริมาณการขายสำหรับการบริโภคส่วนบุคคลหรือธุรกิจรายย่อยจึงดูไม่มาก แต่สำหรับในอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน ผู้ผลิตมีการแข่งขันกันมากในด้านอาหารปลอดภัย อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ จึงหันมาใช้น้ำตาลออร์แกนิคกันมากขึ้น เช่น เบเกอรี่ ช็อคโกแลต เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากนม ขนมหวาน ลูกกวาด ของขบเคี้ยว เป็นต้น” คุณเพชรชูชัย อธิบาย
ทิศทางบวกน้ำตาลออร์แกนิคในตลาดโลก
“มีการคาดการณ์ว่า แนวโน้มความต้องการน้ำตาลออร์แกนิคในตลาดโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตลาดทางยุโรป และอเมริกาเหนือ จากปี 2019-2024 ในตอนแรกคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำตาลออร์แกนิคจะเพิ่ม 16 % แต่เมื่อเกิดผลกระทบของ Covid-19 คาดการณ์ว่าความต้องการจะเพิ่มเพียง 14% ดังนั้นแนวโน้มการปลูกอ้อยอินทรีย์ ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตามความต้องการเหล่านั้น” คุณเพชรชูชัย กล่าว
ในประเทศไทยเอง ก็มีโรงงานน้ำตาลหลายแห่งที่เริ่มสนใจปลูกอ้อยอินทรีย์เพื่อผลิตน้ำตาลออร์แกนิค ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ในไทยนั้น จะเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น ความรู้ความเข้าใจของเกษตรกร เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังคงเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น พื้นที่ปลูกต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสารเคมีตั้งแต่แรกเริ่ม ต้องส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงหลักการเกษตรอินทรีย์ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร เพราะปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร บางพื้นที่เป็นที่ดินเช่า เกิดความไม่แน่นอนว่าเจ้าของต้องการจะมาเอาคืนไปเมื่อไร ทำให้เกษตรกรเกิดความลังเล โอกาสที่จะทำก็ยากขึ้น
ในเรื่องของแรงงาน กรณีเกษตรกรรายเล็กต้องใช้แรงงานตัดอ้อยสด ไม่มีเครื่องมือเครื่องจักร เกิดตัดอ้อยส่งไม่ทันตามกำหนดหีบอ้อยอินทรีย์ ในส่วนนี้หากมีแหล่งเงินทุนรองรับ หรือสนับสนุนเครื่องจักรขนาดเล็ก ก็จะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ลงได้ และปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีขายน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้การรับรองจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มากกว่า การเข้าถึงยากเช่นนี้ ก็ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหาปัจจัยการผลิตได้พอ จึงไม่อยากทำต่อ
คุณเพชรชูชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยสุดท้ายอย่างภัยธรรมชาติ เช่น เกิดภัยแล้งทำให้ได้ผลผลิตอ้อยไม่ดี ปีหน้าเกษตรกรอาจเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ทนแล้งอย่างมันสำปะหลังแทน ดังนั้น ถ้าปัจจัยเหล่านี้ได้ถูกแก้ไข หรือได้รับการส่งเสริมให้ดีขึ้น การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์มีทิศทางที่ดีขึ้นได้แน่นอน