เเนวโน้มอุตสาหกรรมเอทานอลไทย หลังผ่านพ้น COVID-19
วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาประมาณครึ่งปี ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 13 ล้านราย และเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5 แสนราย ทำให้เกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีการใช้มาตรการทั้งเรื่องของการปิดเมือง ปิดประเทศ ซึ่งทั้งหมดนั้นส่งผลโดยตรงถึงปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่างๆที่ลดลง และจนไปถึงแรงกดดันที่ทำให้ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ลดลงตามไปด้วย โดยเหตุการณ์สำคัญที่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งและเป็นครั้งแรกของโลกก็คือ การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ถึงขนาดที่ผู้ขายต้องยอมขายขาดทุน หรือที่เราได้ยินกันว่า “ราคาน้ำมันดิบติดลบ” เนื่องจากปริมาณการใช้ลดลงต่ำมากจนผู้ขายขายไม่ทันและไม่มีที่จัดเก็บ จึงต้องขายให้กับผู้ซื้อในราคาที่ถูกมาก โดยที่ผู้ซื้อต้องไปหาที่จัดเก็บเอง
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเอทานอลของไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์นี้เช่นกัน อันเนื่องมาจากการประกาศเคอร์ฟิว มาตรการปิดเมืองปิดจังหวัด การลดระยะห่างทางสังคม ทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศลดลง โดยพบว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลก็ลดลงตั้งแต่ 4.33 4.30 3.97 และ 2.92 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน ตามลำดับ (ที่มา : กรมธุรกิจพลังงาน) รัฐบาลเองก็ได้มีมาตรการตอบสนองที่ค่อนข้างรวดเร็วในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการเชื้อเพลิงเอทานอล สามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของเอทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้เปลี่ยนมาเป็นเอทานอลที่ใช้ในการทำความสะอาด และบริจาคหรือจำหน่ายได้เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการเชื้อเพลิงเอทานอลที่กำลังประสบปัญหาเชื้อเพลิงเอทานอลล้นตลาด และช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับฆ่าเชื้อ COVID-19 ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักและมีราคาสูงมาก
แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลหลายๆอย่าง พบว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเอทานอลไทยหลังการระบาดของโรคยังสามารถเติบโตต่อไปได้ และอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างที่ควรจะเป็น หรือควรจะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ อันเนื่องมาจากความสำเร็จในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย โดยข้อมูลด้านหนึ่งจะเห็นว่า ในทันทีที่มีการประกาศการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ทำให้กิจกรรมทางสังคม การทำงาน การเดินทาง ก็กลับคืนมาในทันที ถึงแม้จะไม่เท่ากับที่เป็นอยู่ก่อนเกิดการแพร่ระบาด แต่ก็ถือว่าเกือบๆจะเป็นปกติ
โดยทันทีที่เริ่มมีการผ่อนปรนเพียงแค่ไม่ถึงเดือน ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 2.92 ล้านลิตรต่อวันในเดือนเมษายนเป็น 3.49 ล้านลิตรต่อวัน ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 (ที่มา : กรมธุรกิจพลังงาน) หรือคิดเป็นประมาณ 79% ของปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อวัน ก่อนเกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะสะท้อนถึงสภาพจิตใจและความเชื่อมั่นของทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่อความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาล รวมทั้งความสามารถและประสิทธิภาพของหน่วยงานต่างๆในการจัดการกับการแพร่ระบาด ตลอดจนถึงการดูและรักษาผู้ติดเชื้อที่ในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก จึงกลับมาใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจกันจนเกือบเท่าสถานการณ์ปกติ ถึงแม้จะไม่ส่งผลกระทบจนถึงขนาดที่ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤติการณ์ แต่ก็ทำให้อัตราการเพิ่มปริมาณการใช้ไม่เพิ่มสูงเท่าที่เคยคาดการณ์กันไว้
แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ กลับเกิดขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะมีการประกาศเลื่อนแผนการปรับโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศออกไปอย่างไม่มีกำหนด อันเนื่องมาจากความต้องการการใช้แอลกอฮอล์ 70% สำหรับใช้ฆ่าเชื้อ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยแผนการปรับโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน ด้วยการยกเลิกการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2563 เพื่อประกาศให้แก๊สโซฮอล์ อี20 ให้เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน และให้ผู้ค้าน้ำมันมีเวลาปรับตัวในการยกเลิกการจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอลเป็น 7 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 4-5 ล้านลิตรต่อวัน อีกประการหนึ่งก็คือ ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ถูกควบคุมได้อย่างดีเยี่ยม เชื่อว่าจะมีการดำเนินการตามแผนเดิมหรืออย่างน้อยอาจจะล่าช้าออกไปเพียงแค่ไม่กี่เดือน
กล่าวโดยภาพรวม อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเอทานอลไทยจะยังคงสามารถเติบโตได้ต่อไป ด้วยปัจจัยที่สำคัญทั้งเรื่องความเชื่อมั่นของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ กิจกรรมส่วนใหญ่จะยังคงกลับมีเหมือนเช่นเดิม แต่ก็มีผู้คนบางส่วนที่ยังคงมาตรการลดการเดินทาง รวมไปถึงการปรับตัวของธุรกิจที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ส่วนแผนการปรับโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เชื่อว่าจะยังคงนำกลับมาใช้เช่นเดิม แต่ก็คงไปไม่ถึงเป้าหมายที่ 7 ล้านลิตรต่อวันหากไม่มีมาตรการใหม่อื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้ในหลายๆประเทศเริ่มทยอยคลายล็อกดาวน์และวางแผนฟื้นฟูประเทศ แต่ก็ยังคงมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจทั้งในไทยและทั่วโลกจากผลกระทบโควิด-19 ส่วนบางประเทศก็กลับมาระบาดรอบสอง ประกอบกับปัจจัยค่าเงินบาทที่เริ่มมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นด้วย ดังนั้นภายในสองไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็ยังคงต้องจับตาดูแนวโน้มภาคการผลิตเอทานอลอย่างใกล้ชิด เพราะหาทางวิเคราะห์การรับมือกันต่อไป