ไทยเดินหน้าครองตำแหน่งผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพอันดับ 3 ของโลก
สอน. หรือ สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ําตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ไทยพร้อมเดินหน้าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่ผู้นำอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอันดับ 3-4 ของโลก เพราะขณะนี้ มีผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ 2 ราย ได้เดินหน้าลงทุนตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในไทย อาทิ บริษัท Corbion (Thailand) ผู้ผลิต Lactic acid รายใหญ่ของโลก ที่ได้ขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงาน ด้วยเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท พร้อมเปิดดำเนินการปี พ.ศ. 2566 และโครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” จ.นครสวรรค์ ในปี 2564 ที่ผลิตพลาสติก PLA จากวัตถุดิบน้ำอ้อย ด้วยเงินลงทุน 30,000-40,000 ล้านบาท
วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้จะเกิด วิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก แต่ อุตสาหกรรมชีวภาพยังขยายตัว โดยเฉพาะการ ลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในไทยที่มีนักลงทุน จากไทยและต่างประเทศหลายรายตั้งฐานการผลิตเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ โดยเฉพาะ บริษัท Corbion (Thailand) ผู้ผลิต Lactic acid รายใหญ่ของโลก ซึ่งหลังจาก ลงทุนโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ในปี 2561 มีกำลังการผลิตปีละ 140,000 ตัน นำไปผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ปีละ 75,000 ตัน โดยใช้น้ำตาลทรายดิบเป็นวัตถุดิบ
“ล่าสุดปี 2563 ได้ขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานในที่ตั้งเดิม ซึ่งเพิ่มกำลังการผลิต กรดแลคติกและอนุพันธ์กรดแลคติกอีกปีละ 125,000 ตัน ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ปีละ 70,000 ตัน ใช้เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจ้างแรงงานเพิ่มอีก 150 อัตรา และ จะใช้น้ำตาลทรายดิบเป็นวัตถุดิบผลิตเพิ่มเป็น ปีละ 300,000 ตัน คาดว่าการก่อสร้าง เริ่มปี 2564 และเปิดดำเนินการปี พ.ศ. 2566”
สำหรับเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA เกือบทั้งหมดจะขายยุโรป เพื่อนำไปผลิตเป็น บรรจุภัณฑ์อาหารและสินค้าที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยมีเหลือจำหน่ายในไทยเพียง 500 ตันต่อปี เพราะยุโรปตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งแม้ว่า พลาสติกชีวภาพจะแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 3 เท่า แต่มีความต้องการเพิ่มขึ้นตลอดเนื่องจาก ผู้บริโภคในยุโรปมีกำลังซื้อสูง ดังนั้น Corbion จึงเร่งลงทุนตั้งโรงงานใหม่ เพื่อผลิต เม็ดพลาสติกชีวภาพให้เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ มีความชัดเจนของโครงการร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงทุน โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในโครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” จ.นครสวรรค์ ในปี 2564 เงินลงทุน 30,000-40,000 ล้านบาท โดยใช้วัตถุดิบจากน้ำอ้อยในการผลิต เม็ดพลาสติก PLA
ขณะนี้โรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการผลิต พลาสติกชีวภาพ 1 ใน 5 ของโลก รองจากสหรัฐ ที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งรองจากบราซิล ที่ใช้น้ำตาลอ้อยเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่จีน ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ และยุโรป ใช้น้ำตาลจากหัวบีทเป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้ หากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทั้ง 2 แห่งเสร็จ ไทยจะขึ้นไปอยู่อันดับ 3-4 ของโลก แต่ทั้งนี้หากไทยส่งเสริม การใช้พลาสติกชีวภาพจริงจังจะช่วยเพิ่ม ความต้องการเม็ดพลาสติกชีวภาพอีกมาก ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของโลก รวมทั้งไทยมีแผนเพิ่มปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพเต็มที่ โดยปี 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ให้ลดหย่อนภาษี 125% ตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 ถึง ธ.ค.2564 แก่บริษัทผู้ซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ โดยจะช่วยกระตุ้นให้โรงงานพลาสติกกว่า 10% ปรับสู่การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงาน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ยังได้รับงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา การวิเคราะห์ทดสอบ การสัมมนาและเผยแพร่ ผลงานอุตสาหกรรมชีวภาพทั้งพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ชีวเภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ใน เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นฐานการผลิต ปิโตรเคมีและการผลิตพลาสติก โดยมีความพร้อม ในการพัฒนาเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-polis) ทางด้านพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ โดยคาดว่า จะเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งหากไทยส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพจริงจัง จะทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมนี้