COVER STORYเรื่องเด่น

ต่อยอดศักยภาพ “อุตสาหกรรมชีวภาพ” ทางเลือกกระจายความเสี่ยงราคาอ้อยและน้ำตาล

เป็นที่รู้กันดีว่าตอนนี้สถานการณ์อ้อยและราคาน้ำตาลอยู่ในช่วงที่ไม่สดใสเท่าไหร่นัก เนื่องจากราคาตลาดโลกที่ผันผวนมาจากนโยบายการส่งออกของอินเดีย รวมถึงสภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทางการเกษตร ทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาล ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย มีข้อมูลว่าในฤดูการผลิตปี 2561/2562 นั้น มีอ้อยเข้าหีบรวม 131 ล้านตัน ทำให้มีผลผลิตน้ำตาล 14.6 ล้านตัน เรียกได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้กำลังอยู่ในสภาวะทรงตัวสูง และอาจจะต้องใช้เวลาสองถึงสามปีในการฟื้นตัว ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด ประเทศไทยจึงควรหาทางออกโดยมุ่งเน้นนำผลผลิตทางการเกษตรเช่นอ้อยและน้ำตาล ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้ที่กระแสพลาสติกชีวภาพกำลังมาแรง อันเนื่องมาจากกระแสการรักษ์โลก และต้องการลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้

โดยผู้ที่จะมาให้คำตอบในประเด็นเรื่องอุตสาหกรรมชีวภาพไทยและความน่าสนใจของตลาดพลาสติกชีวภาพ ทางนิตยสาร Sugar Asia ได้รับเกียรติจากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในวงการอ้อยและน้ำตาลไทย ดร.พิพัฒน์ วีรถาวร กรรมการสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์ อีกทั้งยังควบตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และเป็นที่ปรึกษาโครงการ สถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย ทั้งยังเป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพไทย ซึ่งได้บรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2556 อีกด้วย

ดร.พิพัฒน์ วีรถาวร กรรมการสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เเละผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ศักยภาพของ “อุตสาหกรรมชีวภาพไทย” เปรียบเทียบกับ “อุตสาหกรรมชีวภาพในเอเชีย”

ก่อนกล่าวถึงประเด็นการเปรียบเทียบอุตสาหกรรมชีวภาพไทยกับอุตสาหกรรมชีวภาพในเอเชีย ดร.พิพัฒน์ได้ให้คำจำกัดความ “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ” (Bio-economy) ว่าคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้และแปรรูปชีวมวลจากผลผลิตการเกษตรและหรือเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น “อุตสาหกรรมชีวภาพไทย” ก็คือ อุตสาหกรรมที่จะใช้ผลิตผลการเกษตร และหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นวัตถุดิบหลักประเภทที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้ (Renewable feedstock) ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั่นเอง เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจโลกของเราถูกขับเคลื่อนจาก น้ำมันดิบ (Fossil Oil) และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมี ซึ่งอาจจะหมดไปได้ในที่สุด

ดร.พิพัฒน์ ได้กล่าวถึงการเกษตรว่า ประเทศไทยของเราเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับต้นๆของโลกทั้งข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล เป็นต้น และ “อุตสาหกรรมชีวภาพ” เกิดเป็นธุรกิจระดับโลกขึ้น และมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ก็คือ พลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastic) ที่มีโรงงานผลิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิต 150,000 ตันต่อปี ใช้วัตถุดิบคือน้ำตาลจากข้าวโพด

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพประเภทเดียวกัน (PLA หรือ Poly Lactic Acid) ก็เพิ่งเปิดสายการผลิต กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี โดยใช้น้ำตาลจากอ้อย ที่จังหวัดระยอง ประเทศไทยก็เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกปีละมากกว่า 10 ล้านตัน รองจากบราซิล ซึ่งอยู่กันคนละซีกโลก) จึงอาจกล่าวได้ว่า “ประเทศไทยในบริบทของ “อุตสาหกรรมชีวภาพ” มีศักยภาพสามารถเป็น “BIO-INDUSTRIAL HUB in ASIA” ได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะประเทศไทยเรามีจุดแข็งในเรื่องการเกษตรนั่นเอง”

ขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดพลาสติกชีวภาพไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชีย

ดร.พิพัฒน์ ได้อธิบายในแง่ของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งมีวัตถุดิบคือ น้ำตาล ไม่ว่าจะจากอ้อยหรือข้าวโพดก็ตาม จะเป็นต้นทุนแล้ว 50-60 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด การที่โรงงานอยู่ใกล้กับแหล่งผลิตวัตถุดิบย่อมได้เปรียบในแง่ต้นทุนการขนส่งแล้วระดับหนึ่ง

นอกจากนั้นประเทศไทย เรายังมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกประมาณ 3,000-4,000 โรง สามารถที่จะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อื่นๆที่มีมูลค่าสูงขึ้น ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ยุโรปได้อีกด้วย

ดังนั้นนอกจากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ดร.พิพัฒน์ จึงกล่าวเสริมต่อไปว่า “ระบบการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประเทศไทยก็ไม่แพ้ประเทศอื่นๆในเอเชีย รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมฐานชีวภาพของรัฐบาลไทย น่าจะทำให้ได้เปรียบ หรือนำหน้าประเทศอื่นๆ ในเอเชียพอสมควร”

ดัน “Biotechnology” ชูประสิทธิภาพการวิจัยเพื่อผลิตภัณฑ์ชีวภาพไทย

นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ดร.พิพัฒน์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ไทยเรายังมีศักยภาพด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆอีก และที่ดำเนินการอยู่แล้วคือ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล (ทั้งสองชนิดจัดเป็น BIO-FUEL) ซึ่งในระยะต่อไป ประเทศไทยเราต้องผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร แทนที่จะส่งในรูปของสินค้าเกษตรขั้นต้น เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล ประเทศไทยก็ต้องแปรรูปสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบขั้นสูงขึ้นไป เช่น Functional food และสารชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ (Bio-medical)

ซึ่งจุดๆนี้ ดร.พิพัฒน์ ได้ประเมินว่า “เราต้องใช้การวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นไป งานวิจัยที่เป็นกุญแจหลักคือ Biotechnology ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีสาขาต่างๆหลายด้านที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น Biotechnology ด้านการเกษตร ด้านการแพทย์”

หากพูดตามตรงงานวิจัยด้านนี้ของไทย ดร.พิพัฒน์ ได้ให้ข้อมูลว่า ยังก้าวหน้าในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น (Lab scale) ซึ่งทางรัฐบาลไทย ร่วมกับภาคเอกชนต้องให้การสนับสนุนและลงทุนด้านการวิจัยในระดับขยายผล (Up-scaling) ระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot Scale) ตลอดจนระดับทดลองตลาด (Pre-marketing Scale) มีขนาดกำลังการผลิต หรือการลงทุน แตกต่างไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นในระยะนี้ ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาผู้ร่วมลงทุนที่พร้อมในด้านเทคโนโลยีเพื่อที่จะเรียนรู้และเริ่มธุรกิจไปก่อน

กระตุ้นอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในไทย เพิ่มการใช้ “ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ”

ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการด้านภาษี 125% สำหรับการใช้พลาสติกชีวภาพ แต่ยังขาดระเบียบวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนและประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ดั้งนั้น ดร.พิพัฒน์ จึงได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์ชีวภาพทุกชนิดเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคเท่านั้น ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมได้ทั้งหมด ทั้งในเชิงคุณภาพและราคา

2. ผลิตภัณฑ์ชีวภาพส่วนใหญ่ มีราคาแพงเนื่องจากต้นทุนของวัตถุดิบ มาจากวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ แต่สามารถผลิตขึ้นมาใหม่ได้ เช่น แป้ง น้ำตาล ไม่เหมือนผลิตภัณฑ์จากน้ำมันซึ่งอาจหมดไปเมื่อไรก็ได้ในอนาคต

3. เนื่องจากวัตถุดิบมาจากทางการเกษตร ในเชิงสิ่งแวดล้อมอาจมีผลกระทบโดยรวมทั้งหมดน้อยกว่าน้ำมันดิบ ขึ้นอยู่กับระบบการผลิตและการจัดการในองค์รวมทั้งหมด

4. ตลาดของผลิตภัณฑ์ชีวภาพในไทยมีขนาดเล็ก คล้ายๆตลาดพืชผักหรืออาหารอินทรีย์ ที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5. รัฐบาลอาจจะช่วยกระตุ้นด้านอุปสงค์ได้บ้าง โดยให้มีนโยบายการจัดซื้อ/จัดจ้างทางภาครัฐ ในด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพก่อน ให้มีสัดส่วน 30-50% แม้ว่าราคาจะแพง ในส่วนของภาคประชาชนรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีในเบื้องต้น และระยะเวลา 3-5 ปี

“ศักยภาพตลาดพลาสติกชีวภาพในเอเชียแปซิฟิก สู่การเป็นผู้นำตลาดแทนยุโรปภายใน 5 ปี”

มีข้อมูลว่า ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพรายใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา โดยจีน และไต้หวัน ส่งออกในรูปบรรจุภัณฑ์ single uses และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก และมีจำนวนประชาชนถึงร้อย 75 ที่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศเยอรมัน เนอเธอร์แลนด์ เป็นต้น

ในส่วนของตลาดพลาสติกชีวภาพในเอเชียแปซิฟิกที่ผ่านมานั้น ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่กระแสการตื่นตัวของปัญหาสภาพแวดล้อม ทำให้มีการกระตุ้นผ่านมาตรการของรัฐ ส่งผลผลักดันให้ประเทศต่างๆในเอเชียแปซิฟิกเริ่มลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก และเริ่มหาผลิตภัณฑ์ทดแทนจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

โดยดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกมีสูงกว่าทางยุโรป อีกทั้งช่วงเวลานี้ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพลาสติกค่อนข้างจะเป็นประเด็นสำคัญมาก” และสาเหตุตามจริงก็มาจากการที่ประเทศในเอเชียแปซิฟิกขาดระบบการกำจัดขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพทำให้มีขยะพลาสติกปนเปื้อนลงในทะเลและมหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่ จนเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และสายโซ่อาหารตามที่เป็นข่าวครับ แต่เรื่องระยะเวลา 5 ปี อาจจะเร็วเกินไป เพราะอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพก็ยังค่อนข้างใหม่ในเอเชียแปซิฟิก

แต่อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ได้วิเคราะห์ว่าในเรื่องระยะเวลา 5 ปี ก็ไม่อาจยืนยันได้แน่นอน เพราะโลกสมัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว สังคมโลกมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น เช่น การทำธุรกิจต่างๆ ต้องมี Sustainability Development Goals (SDG) 17 goals ของ UN ดังนั้น ทุกประเทศก็ต้องมีการปรับตัวในการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในมากขึ้น อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จึงอาจเกิดขึ้นเร็วกว่า 5 ปี เนื่องกระแสความห่วงใยสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับประชาชน ทุกชาติ ทุกระดับ ก็เป็นไปได้