น้ำตาลเอเชีย

อุตสาหกรรมน้ำตาลเวียดนามเร่งฝ่าฟันการแข่งขันในประเทศ

จากข้อมูลอ้างอิงของสมาคมน้ำตาลและอ้อยเวียดนาม (VASA) เวียดนามสูญเสียอ้อยไปแล้วเทียบเท่าเนื้อที่เพาะปลูกกว่า 120,000 เฮกตาร์ในช่วงปี 2559-2564 ซึ่งเป็นปริมาณที่ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 45 โดยผลผลิตอ้อยลดลงจาก 64.8 เหลือ 61.5 ตันต่อเฮกตาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว

จำนวนครัวเรือนที่ปลูกอ้อยลดลงจาก 219,500 เป็น 126,000 ครัวเรือน ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานน้ำตาล 11 แห่งได้ปิดตัวลง ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลของประเทศลดลงจาก 1.24 เป็น 0.77 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 38

ในขณะเดียวกัน เวียดนามได้นำเข้าน้ำตาลมากขึ้นในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเข้าน้ำตาลในปี 2563 อยู่ที่ 3.4 เท่าของปริมาณในปี 2562 โดยน้ำตาลส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยที่นำส่งออกผ่านกัมพูชาและลาว

การผลิตน้ำตาลในประเทศเวียดนามตอบสนองความต้องการของตลาดได้เพียง 40% ในขณะที่เวียดนามนำเข้าน้ำตาลสำหรับทดแทนปริมาณส่วนที่เหลือ จากข้อมูล เกา อัน ดอง ประธานสมาคมน้ำตาลและอ้อยเวียดนาม ในช่วงปี 2560-2563 ประเทศเวียดนามนำเข้าน้ำตาลจำนวน 1.2-1.8 ล้านตัน

ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลที่นำเข้าซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรบวกกับอุปสรรคทางเทคนิค เนื่องจากประเทศเวียดนามได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ลงนามในเดือนเมษายน 2562 ซึ่งยกเลิกภาษีนำเข้าน้ำตาลของเวียดนามอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นปี 2563

เกา อัน ดอง แถลงว่า แม้ว่าเวียดนามสามารถพิจารณาจัดเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดและต่อต้านการอุดหนุนน้ำตาลจากไทย แต่อาจมีการลักลอบนำเข้า ซึ่งถือเป็นขวากหนามของอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศมานานหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักอยู่ที่ต้นทุนการผลิต กระบวนการผลิต และการจัดการของเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ร้อยละ 30, 183 และ 53 ตามลำดับ

อ้อยสูญเสียความนิยมในหมู่เกษตรกรเวียดนาม เนื่องจากพืชผลอื่นๆ ให้ผลผลิตทางการเงินที่สูงขึ้นต่อเฮกตาร์ ตัวอย่างเช่น มันสำปะหลังและข้าวโพดนำเงินมาสู่เกษตรกรมากขึ้นถึงร้อยละ 500-800 ในที่ราบสูงตอนกลาง และร้อยละ 1,000-3,000 ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

จากข้อมูลของโต ชวน พัค นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรฟอร์เรสต์ เทรนด์ส ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้และการเกษตรแบบยั่งยืนในเวียดนาม อุตสาหกรรมน้ำตาลได้รับความเดือดร้อนจากการปลูกและดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้องของชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นผู้ผลิตหลัก

โต ชวน พัคยังเสริมว่า โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรจะได้รับส่วนแบ่งน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 11 ของกำไรทั้งหมดที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทาน เทียบกับร้อยละ 44 ที่โรงงานน้ำตาลได้รับ และร้อยละ 45 ที่ผู้จัดจำหน่ายได้รับ

ที่เลวร้ายกว่านั้น มีรายงานความผิดปกติในสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระหว่างโรงงานน้ำตาลกับเกษตรกร ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียความไว้วางใจระหว่างทั้งสองฝ่ายและเกิดอุปทานที่ผันผวน

โต ชวน พัคกล่าวว่า หากอุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลที่นำเข้าได้ การดำรงอยู่ของน้ำตาลเวียดยามก็จะตกอยู่ในอันตราย

“เราสังเกตเห็นพื้นที่เพาะปลูก ความสามารถในการผลิต และผลผลิตลดลงอย่างมากตั้งแต่ ATIGA นี่เป็นหลักฐานที่แสดงว่าผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศขาดการเตรียมการก่อนมีข้อตกลงการค้าเสรีที่สำคัญ” นายโต ชวน พัคสรุป

อุตสาหกรรมน้ำตาลเวียดนามอยู่ในอันดับที่สี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และอันดับที่ 15 ของโลกของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด