สินเชื่อเพื่อลด PM2.5 ก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย
ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นมายาวนาน โดยระดับฝุ่นจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคมของทุกปี และระดับฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง และดวงตา ซึ่งปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การเผาป่าและไฟป่า อุตสาหกรรมการก่อสร้าง หรือการเผาในภาคการเกษตรที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
บทความนี้นำเสนอโดยสำนักข่าวท้องถิ่น บอกเล่าแง่มุมของผู้ประกอบการและเกษตรกรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ตกเป็นจำเลยในการปล่อยมลพิษอันเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดฝุ่น PM2.5 และร่วมพูดคุยถึง “อ้อยไฟไหม้” พร้อมทั้งแนวทางที่นำมาแก้ไขเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แรงงานหายาก ต้นเหตุของการเผา
ลึกเข้าไปภายในพื้นที่ของไร่อ้อยแห่งหนึ่งในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ทางเข้าเป็นถนนลูกรังฝุ่นสีแดงคลุ้งยามล้อรถเคลื่อนผ่าน ต้นอ้อยสูงกว่า 2 เมตรเรียงรายทอดยาวไปสุดลูกหูลูกตา ที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ รถตัดอ้อย และรถบรรทุกอีกหลายคันที่จะต้องใช้ร่วมกับการเก็บเกี่ยว คุณพิริย์พล ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-สายสนับสนุนจาก KSL Group ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มาพร้อมกับทีมงานจาก KSL Group
ในเครือ KSL Group มีโรงงานผลิตน้ำตาลทั้งหมด 5 แห่งในไทย และอีก 1 แห่งในลาว สั่งสมประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลมายาวนานเกือบ 80 ปี ซึ่งตลอดการทำงานพบเจอปัญหาหลากหลาย และปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องมีหลัก ๆ 3 ข้อ คือ แรงงาน สิ่งปนเปื้อน และมลภาวะที่ส่งผลต่อทั้งระบบอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
“บางครั้งการเผาเกิดจากความจำเป็นครับ และว่ากันตามความจริงไม่มีใครอยากเผา” คุณพิริย์พลเริ่มเล่าเมื่อเราถามถึงอ้อยไฟไหม้
การตัดอ้อยเป็นงานใช้แรงงานค่อนข้างมาก ผนวกกับการทำงานกลางแจ้งในอุณหภูมิที่สูง ทำให้แรงงานรุ่นใหม่ทำงานนี้น้อยลง ส่งให้แรงงานที่ยังทำอยู่ในไร่อ้อยส่วนใหญ่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อแรงงานตัดอ้อยมีน้อยและต้องทำงานแข่งกับเวลาทำให้เกิดปัญหา คือ สิ่งปนเปื้อนที่ติดไปกับผลผลิต เพราะหลังจากตัดอ้อยแล้วจะต้องส่งให้โรงงานในวันเดียวกันเพื่อป้องกันวัตถุดิบเสื่อมคุณภาพ และการทำความสะอาดอ้อยก่อนนำขึ้นรถบรรทุกต้องใช้เวลา เป็นผลให้กระบวนการผลิตและประสิทธิภาพของโรงงานลดลง
อีกปัญหาระดับชาติ คือ มลภาวะทางอากาศ แม้การเผาจะเพิ่มความสะดวกในการเก็บเกี่ยว แต่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 กระนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เมื่อโรงงานประสิทธิภาพต่ำ ชาวไร่จะได้ค่าอ้อยลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบ แม้ทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องการเผาอ้อย แต่ไม่ใช่ทุกคนจะจัดการปัญหาได้ คุณพิริย์พลย้ำ

รถตัดอ้อย ทางออกที่มาพร้อมต้นทุน
จริง ๆ แล้วทั้งเกษตรกรและโรงงานไม่มีใครอยากได้อ้อยไฟไหม้และไม่มีใครอยากเผาผลผลิตที่สร้างมากับมือ แต่บางครั้งมีความจำเป็น อุตสาหกรรมอ้อยจึงตกเป็นจำเลยสังคมที่ทำให้เกิด PM2.5 ซึ่งเกษตรกรรมประเภทอื่นมีการเผาเช่นกัน แต่อาจจะเผาภายหลังการเก็บเกี่ยว ขณะที่อ้อยเป็นพืชชนิดเดียวที่มีการเผาก่อนเก็บเกี่ยว แม้ในอุตสาหกรรมนี้จะมีคณะกรรมการจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ โรงงาน เกษตรกร และภาครัฐ ร่วมมือกันเก็บข้อมูลปริมาณ น้ำหนัก และกำหนดราคารับซื้ออ้อย โดยให้ “อ้อยสด” มีราคารับซื้อสูงกว่า “อ้อยไฟไหม้” เพื่อลดการเผา แต่ “รถตัดอ้อย” ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานและป้อนอ้อยสดเข้าโรงงานเพิ่ม แต่อุปสรรคคือราคาค่อนข้างสูง โดยราคาเฉลี่ยของรถตัดอ้อยในประเทศอยู่ที่ 5-8 ล้านและหากนำเข้าราคาจะสูงขึ้นอีก ดังนั้นแหล่งเงินทุนจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการเพิ่มรถตัดอ้อยเข้าไปในระบบเพื่อทดแทนแรงงานคนและลดการเผา
คุณพิริย์พลเล่าว่า นโยบายของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย คือ การเพิ่มปริมาณอ้อยสด ลดการเผา ควบคู่ไปกับแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงาน จนนำไปสู่การประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาบริษัทบริษัท น้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด (บริษัทในเครือ KSL Group) ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (ESG) กับธนาคารกรุงไทย เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตอบรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เดินหน้าสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยสินเชื่อที่ได้รับทำให้บริษัทน้ำตาลนิวกรุงไทยซื้อรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 10 คัน รองรับการตัดอ้อยสดและลดอ้อยไฟไหม้ได้ถึง 1 แสนตันอ้อย/ปี หรือเทียบเท่าพื้นที่ 1 หมื่นไร่ และบริษัทมีบริการรถตัดอ้อยให้กับเกษตรกรสมาชิกถึง 50 คัน เมื่ออ้อยไฟไหม้ลดลงก็ย่อมลดการปล่อยมลพิษลงไปด้วย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ
“เราเชื่อว่าการรักษาสภาพแวดล้อมจะช่วยรักษาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในภาพรวมเอาไว้ได้”
นอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว การใช้รถตัดอ้อยยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เพราะต้องมีรถบรรทุกขับขนาบข้างรถตัดอ้อยไปด้วยเพื่อรับผลผลิต และกว้างพอที่จะให้รถตัดอ้อยกลับรถ วิธีการนี้จึงเหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดใหญ่ ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องปรับปรุงไร่อ้อยของตนเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในพื้นที่

เสียงสะท้อนจากเกษตรกร “คนตัดอ้อย หรือ รถตัดอ้อย”
คุณวัชรพงษ์ วิชัยวงษ์วัฒน เจ้าของไร่เกษตรโบว์แดงขนาด 800 ไร่ในจังหวัดกาญจนบุรี เล่าว่าต้องการขยายแปลงปลูกเพิ่ม แต่แรงงานตัดอ้อยหายากมาก จึงขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินเพื่อไปซื้อรถตัดอ้อย จากเดิมที่ใช้แรงงาน 50-70 คน ขณะนี้เหลือเพียง 20 คนเท่านั้น
การใช้รถตัดทำให้อ้อยได้น้ำหนักดี เพราะการเผาทำให้น้ำหนักของอ้อยหายไป ส่งให้ราคาขายถูกลง โดยปกติอ้อยไฟไหม้จะถูกตัดราคาไป 30 บาท/ตัน รวมถึงจะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมโครงการและเงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยจูงใจให้เกษตรกรลดหรือยกเลิกการลักลอบเผาและเปลี่ยนมาเก็บเกี่ยวอ้อยสดแทน “การมีเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร ซึ่งดีกับคนรุ่นใหม่ที่รับช่วงต่อในการทำไร่อ้อยในอนาคต ที่สำคัญยังช่วยลดฝุ่น PM2.5 อีกทั้งใบอ้อยที่ตัดทิ้งยังสามารถนำไปขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือหากปล่อยให้สลายก็จะเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เพราะการเผาจะทำลายหน้าดินและทำให้ดินกระด้าง”
คุณชุนไล้ แซ่แต้ เจ้าของไร่ ป.เจริญขนาด 500 ไร่ในจังหวัดกาญจนบุรี มีปริมาณการผลิตอ้อยอยู่ที่ 8,000-10,000 ตันอ้อย/ปี เล่าให้ฟังว่าเขาได้รับช่วงต่อการทำไร่อ้อยจากพ่อมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ในอดีตจะจ้างแรงงานจากภาคอีสาน แต่ภายหลังมีคนงานน้อยลงและบางครั้งไม่สามารถหาแรงงานได้จึงเปลี่ยนมาหาคนจากพื้นที่ใกล้เคียงแทน ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยให้ทันกำหนดส่งโรงงาน
“ที่ไร่เราก็เคยเผา แต่เจอปัญหาดินไม่ดี อ้อยปลูกยากขึ้น เกิดโรคและมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช อีกทั้งการเผาทำให้เก็บเกี่ยวได้เกินปริมาณที่จัดการได้ ทำให้มีอ้อยไฟไหม้ค้างคืน น้ำหนักหาย และหากฝนตก อ้อยแปลงนั้นจะใช้ไม่ได้เลย” ซึ่งหลังทำไร่อ้อยมาได้ 12 ปีมีคนแนะนำให้ใช้รถตัด แต่ซื้อไม่ไหวเพราะมีราคาแพง
“แต่เราได้รับสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงมีโอกาสได้ซื้อรถตัดอ้อยคันเล็กไว้ใช้ในไร่ ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาในเก็บเกี่ยวอ้อยตามอายุและระดับความหวานที่พอดีได้ด้วยตัวเอง” แม้ต้องปรับปรุงแปลงปลูกให้เป็นแปลงใหญ่ แต่คุณชุนไล้มองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ช่วยย่นระยะเวลาและได้รับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
คุณพิริย์พลกล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คือ ความร่วมมือกับทุกทุกคนที่อยู่รอบตัว งานทุกอย่างมันทำคนเดียวไม่ได้ แม้จะตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไว้ดีเพียงใด แต่ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือก็ไม่มีวันทำสำเร็จ ในเมื่อทุกคนต่างมีส่วนในการปล่อยคาร์บอน หากจะยั่งยืนได้ก็ต้องยั่งยืนไปด้วยกัน” นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น อย่างที่คุณพิริย์พลทิ้งท้าย เป้าหมายนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ทุกคนคือส่วนสำคัญของความเปลี่ยนแปลง

สินเชื่อนำร่องลดฝุ่น PM2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
การสนับสนุนเงินทุนแก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในการปรับกระบวนการเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยลดการเผาอ้อยและฝุ่น PM2.5 เป็นโครงการนำร่องภายใต้โครงการ Financing the Transition ที่ภาคสถาบันการเงินมุ่งมั่นตั้งใจสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับบริบทไทย ซึ่งควรต้องมีการปรับลดระดับความไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลง (จาก brown เป็น less brown)
ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการอุดหนุนเพื่อจูงใจให้เกษตรกรตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย แต่การตัดอ้อยสดอย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยเงินทุนเพื่อปรับพื้นที่และซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร ธปท. จึงได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ผลักดันโครงการนำร่องสินเชื่อเพื่อการปรับกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยและซื้อเครื่องจักรการเกษตร เพื่อช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสินเชื่อนี้ สามารถติดต่อผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการข้างต้นได้ทุกสาขา
แหล่งที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย