น้ำตาลเอเชีย

วิเคราะห์น้ำตาลเวียดนาม ท่ามกลางตลาดโลกผันผวน

หลังจากผลประกอบการที่ “ดียิ่ง” ในปีการเพาะปลูก 2565-2566 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลหลายแห่งได้ตั้งเป้าหมายที่ระมัดระวังมากขึ้นในปีงบประมาณนี้ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นมา  อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลปีนี้จะยังคงสดใสหลังจากที่ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง 

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 บริษัทร่วมหุ้นเซินลา ชูการ์ (Sơn La Sugar JSC) มีรายได้สุทธิรวมกว่า 1 ล้านล้านดอง (43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับผลประกอบการของปีก่อน และกำไรหลังหักภาษีของบริษัทก็ลดลงเกือบถึงร้อยละ 74 เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) เหลือเพียง 137 พันล้านดอง เท่านั้นแม้ว่าจะมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565-2566 ก็ตาม 

ตลาดที่ท้าทาย 

นอกจากการตั้งเป้าหมายธุรกิจที่ไม่สูงนักสำหรับพืชผลในปีการเพาะปลูกใหม่แล้ว คณะกรรมการบริษัทผลิตน้ำตาลเหล่านี้ยังแสดงความเห็นอย่างระมัดระวังอีกด้วย 

ตัวอย่างเช่น บริษัท เซินลา ชูการ์เคน (Sơn La Sugarcane) คาดการณ์ว่าตลาดอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากจากราคาวัตถุดิบและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตอ้อยลดลง 

บริษัทกล่าวว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนิโญค่อนข้างรุนแรง ทำให้เกิดภัยแล้งและความร้อนในจังหวัดเซินลาและจังหวัดอื่น ๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ  สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งหลายแห่งเสียหายจนไม่สามารถปลูกพืชผลได้หรือได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้ของชาวไร่อ้อยลดลง ทำให้การปลูกอ้อยเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายอื่น 

อีกทั้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในการจัดซื้อ ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนวัตถุดิบและกำลังการผลิตที่ลดลงจนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจ 

แต่ในทางกลับกัน คณะกรรมการบริษัทกวนตุม ชูการ์ (Kon Tum Sugar) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ  กิจกรรมทางการค้าที่ผิดกฎหมายและกลโกงทางการค้าในอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออกและการนำเข้าชั่วคราวเพื่อการส่งออกซ้ำยังไม่ได้รับการควบคุมอย่างเข็มงวดอีกด้วย 

แผนการในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องถือเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมในปีนี้ 

นับตั้งแต่สิ้นปี 2565 เป็นต้นมา ราคาน้ำตาลในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ความต้องการในตลาดหลัก ๆ เช่น บราซิล อินเดีย และจีน ลดลง  ราคาซื้อขายน้ำตาลไปอยู่ที่ 26.74 เซนต์/ปอนด์ สูงสุดในรอบ 12 ปี 

แหล่งที่มา: VNECDN

ในขณะเดียวกัน อินเดียอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลได้เพียง 6 ล้านตันในปีการเพาะปลูกปี 2565-2566 ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 12 ล้านตันในปีการเพาะปลูกก่อนหน้า การจำกัดการส่งออกก็เพื่อให้แน่ใจว่ามีน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ 

นอกจากนี้ยังคาดว่ารัฐบาลอินเดียจะสั่งห้ามโรงงานส่งออกน้ำตาลในปีการเพาะปลูกหน้าโดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ความเคลื่อนไหวที่จะระงับการส่งออกของอินเดียครั้งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบเจ็ดปี เนื่องจากผลผลิตอ้อยลดลงจากการที่ฝนไม่ตกเป็นเวลานาน 

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาลหลายแห่งคาดว่า ความต้องการน้ำตาลจะยังคงตึงตัวต่อไปในปี 2566-2567 เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยและทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ผลผลิตอ้อยส่วนหนึ่งจะถูกแปลงเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเอทานอลต่อไป 

จากข้อมูลของสมาคมอ้อยและน้ำตาลเวียดนาม (VSSA) คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลในประเทศจะอยู่ที่ 87,000 ตันในปีการเพาะปลูกนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี 

ส่วนราคาน้ำตาลในประเทศก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำตาลโลกในปี 2566 เนื่องจากมีการนำเข้าน้ำตาลคิดเป็น 2/3 ของความต้องการน้ำตาลในประเทศ 

ในรายงานล่าสุด SSI Research คาดการณ์ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามจะเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำตาลไปสู่ระดับสูงสุดตามโควตาภาษีในปี 2566 เพื่อเสริมความต้องการน้ำตาลในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในประเทศที่นำเข้าน้ำตาลทรายดิบ SSI Research ยังคาดว่าราคาน้ำตาลในประเทศที่สูงขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรกลับมาปลูกอ้อยอีกครั้งอีกด้วย 

นโยบายต่อต้านการอุดหนุนและการทุ่มตลาดที่ใช้กับน้ำตาลจากประเทศไทยเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผลผลิตและราคาน้ำตาลในประเทศดีขึ้นในระยะยาว 

เมื่อไม่นานมานี้ หุ้นบริษัทผลิตน้ำตาลในตลาดหลักทรัพย์มีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก เนื่องจากมีการปรับเกณฑ์อ้างอิงของตลาด อย่างไรก็ตาม ความผันผวนนี้ไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และการธนาคาร เล ซวน ผู้ค้าอิสระใน HCM กล่าว 

“อย่างไรก็ตาม ในระยะกลางและระยะยาว ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลจะดีขึ้น เช่น ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ การระงับการส่งออกจากผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินเดีย และผลผลิตจากประเทศไทยที่ลดลง” เล ซวนกล่าว 

“นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินดองจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการน้ำตาลในด้านการส่งออกซึ่งเมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีนัยสำคัญต่อรายได้ของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง” 

อย่างไรก็ตามได้กล่าวว่า ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมนี้จะต้องพิจารณาสถานการณ์การลักลอบขนน้ำตาลและมาตรการป้องกันการค้าของประเทศต่าง ๆ ด้วย 

เมื่อต้นเดือนที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ลดลงมากกว่าร้อยละ 2 แต่หุ้น SLS ของบริษัทร่วมหุ้นเซินลา ชูการ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ KTS ของบริษัทกวนตุม ชูการ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 แต่ในทางกลับกัน CBS ของบริษัทร่วมทุนเกาบัง ชูการ์ (Cao Bằng Sugar JSC) ลดลงร้อยละ 3.1