กลุ่ม KTIS ช่วยชาวไร่สู้ภัยแล้ง ทำงานเชิงรุก-เร่งพัฒนาแหล่งน้ำ
กลุ่ม KTIS ส่งทีมงานลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งแต่เนิ่นๆ เน้นทำงานเชิงรุก ทั้งใช้เทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่สำรวจพื้นที่ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาอย่างละเอียด เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ชี้บางพื้นที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่บางพื้นที่ไม่มี การแก้ไขปัญหาย่อมต่างกัน ยืนยันชาวไร่อ้อยต้องมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS จึงจะมั่นคง
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี และมีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้ ทางกลุ่ม KTIS จึงต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยคู่สัญญาให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคเรื่องนี้ไปให้ได้ และสามารถสร้างผลผลิตอ้อยที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพของชาวไร่อ้อยและครอบครัวได้อย่างมั่นคง
“กลุ่ม KTIS เราให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก ตามปรัชญาการดำเนินธุรกิจของผู้ก่อตั้งที่ว่า ‘ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง’ เพราะเราเชื่อว่ากลุ่ม KTIS จะเจริญเติบโตอย่างมั่นคงได้ จะต้องมาจากการที่ชาวไร่คู่สัญญาของกลุ่ม KTIS ทำอ้อยแล้วประสบความสำเร็จ ดังนั้นหากเราเห็นว่าจะเกิดปัญหาขึ้นกับชาวไร่เราก็จะต้องหาทางช่วยเหลือทุกรูปแบบเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้ชาวไร่ประสบความสำเร็จ”
ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาภัยแล้งนั้น ได้ใช้ทั้งเทคโนโลยีและคน โดยการสำรวจพื้นที่ไร่อ้อยผ่านดาวเทียมและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ประกอบกับการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ เพื่อดูว่าพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือมีการขุดบ่อไว้แล้ว และแหล่งน้ำเหล่านั้นมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ได้นานแค่ไหน เพื่อจะได้วางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ที่ต้องทุ่มทรัพยากรในการช่วยเหลือมากกว่าก็คือ ไร่อ้อยที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ จะต้องวางแผนว่าจะทำการเดินท่อขนส่งน้ำหรือมีรถลำเลียงน้ำจากที่ไหนเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่เหล่านั้น
สำหรับการต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งที่กลุ่ม KTIS ทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือ การให้เงินเกี๊ยว หรือเงินค่าอ้อยล่วงหน้า การขุดลอกคูคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ไร่อ้อย การจัดสรรน้ำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ อย่างประหยัดและตรงจุด รวมถึงการขุดบ่อเพิ่มเติมเพื่อกักเก็บน้ำ ดังนั้น จึงมั่นใจว่ากลุ่ม KTIS จะยังคงรักษาส่วนแบ่งของปริมาณผลผลิตอ้อยอยู่ในอันดับ 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้