การรับมือกับผลกระทบการระบาดโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย
Sugar Asia ร่วมกับ บริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย (ไทยแลนด์) จํากัด จับมือสามวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ฟรี How the Pandemic is Affecting the Thai Sugar Industry and How the Industry is Mitigating Risks? นำโดย คุณรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริหารบริษัท ไทย ชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด คุณอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ คณะกรรมการบริหารของบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) และได้รับเกียรติจาก ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร กรรมการสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนา การสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าเข้าฟังอย่างมากทั้งในไทยและต่างประเทศที่ต้องอัพเดตสถานการณ์ นำมาปรับใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 57 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคเหนือ 10 โรงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 โรงงาน ภาคกลาง 20 โรงงาน ภาคตะวันออก 5 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 1.2 ล้านตัน (Mln TCD) มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยรวมทั้งหมด 1.7 ล้านเฮคตาร์ แต่โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 5 เฮคตาร์ และมากกว่า 80% ยังขาดระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูก ในส่วนของโรงงานจะหน้าที่ในการสนับสนุนการเงิน อุปกรณ์การเกษตร เครื่องจักรเก็บอ้อยต่างๆ รวมถึงปัจจัยการผลิตแก่ชาวไร่อ้อย ส่วนผลผลิตประมาน 80% จะนำส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ คุณรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริหารของบริษัท ไทย ชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด ได้กล่าวถึงสถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในปัจจุบันว่า “เราได้เผชิญภัยแล้งในช่วงระหว่างสองปีที่ผ่านมา รวมถึงมีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างแม่น้ำกลองที่ได้ลดระดับต่ำลงในรอบ 60 ปี ผมคิดว่าภัยแล้งไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในประเทศไทยนั้น แต่เกิดขึ้นไปทั่วภูมิภาค สิ่งนี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมผลผลิตอ้อยในปี 2019/2020 ลดลงไปมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยแรกคือภัยแล้ง ปัจจัยถัดมาคือการตกของราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยในช่วงสองปีที่ผ่านมาด้วย สิ่งนี้อาจมีผลให้เกษตรกรบางคนหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน โดยเฉพาะมันสำปะหลัง”
จากการคาดการณ์ของบริษัท ไทย ชูการ์ มิลเลอร์ ผลผลิตอ้อยในฤดูปี 2020/2021 มีการคาดการณ์ 65-70 ล้านตันอ้อย และจะมีการผลิตน้ำตาลประมาน 7-7.5 ล้าน ทำให้ประเทศไทยจะมีการส่งออกน้อยในปีนี้ ปัจจัยอีกประการหนึ่งก็คือ มาตรการของรัฐบาลในประเด็นของนโยบายการเก็บเกี่ยวสีเขียว (Green Harvest Policy) นั่นคือเกษตรกรต้องห้ามมีอ้อยไฟไหม้เกิน 20% ในการส่งไปยังโรงงานหีบอ้อย และถ้าหากมีการตรวจพบอ้อยไฟไหม้ เกษตรกรจะต้องเสียค่าปรับให้กับโรงงานเป็นเงิน 30 บาท ต่อตันอ้อยไฟไหม้ และโรงงานก็จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 20 บาทต่อตันอ้อยไฟไหม้เช่นกัน เนื่องจากมีการอ้างอิงตัวเลขตามเป้าหมายการลดอ้อยไฟไหม้ 20% โดยมีข้อมูลจากรัฐบาลว่า การเกิดมลภาวะทางอากาศในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตัวเมืองอย่างกรุงเทพมหานครหรือภาคเหนือ เพราะมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทางเกษตรกรรม การเผาไร่ข้าวสาลี การเผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด เศษพืช ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข
COVID-19 กับ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีการระบาดไปทุกพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แต่โดยรวมสถานการณ์ในประเทศไทยกำลังดีขึ้น บางธุรกิจเริ่มกลับมาปฎิบัติงานได้ตามปกติ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้การบริโภคน้ำตาลในประเทศลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ คุณรังสิตเสริมว่า มีการคาดการณ์การบริโภคน้ำตาลอยู่ประมานที่ 2.5 ล้านตัน และดูเหมือนว่าอาจจะมีการบริโภคน้อยกว่า 2.30 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่มีการบริโภคน้ำตาลประมาน 2.45 ล้านตัน โดยมีปัจจัยเสริมอย่างการปิดร้านอาหาร ร้านค้า หรือบางพื้นที่การค้า การไร้นักท่องเที่ยวในช่วงที่มีการเกิดการระบาด รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่อ้อยกลับประเทศบ้านเกิด
คุณอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ คณะกรรมการบริหารของบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตอนนี้มองว่าสถานการณ์โควิดในไทยมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าการบริโภคในประเทศจะรายงานว่าลดลงอย่างน้อย 10% แต่ในส่วนของโรงงานน้ำตาลทุกที่ในประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะทำให้มีการปลูกอ้อยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะลดผลกระทบผลผลิตน้ำตาลที่มีแนวโน้มจะลดลงในปีหน้า “ยกตัวอย่างเช่นโรงงานน้ำตาลของ KBS เองที่มีการเตรียมพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคเป็นอย่างดี เรามีการประชุมวางแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมการเรื่องขั้นตอนการผลิต ส่วนในกรณีล็อคดาวน์ ก็คงต้องมีการรับมือในเรื่องการสั่งซื้อใดๆที่มาจากต่างประเทศ แน่นอนในประเทศด้วย เราจะมีการเปลี่ยนปฎิบัติการในเชิงออนไลน์มากขึ้นด้วยกรณีโรคระบาด และถ้าหากโรงงานน้ำตาลไม่สามารถเปิดได้ ก็คงจะกลายเป็นปัญหาใหญ่” คุณอิสสระ กล่าว
ประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 จะมีทิศทางเป็นอย่างไร? คุณรังสิตกล่าวว่า “อันที่จริงแล้ว อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2018 เรามีได้มีการเปลี่ยนระบบโควต้า โดยเฉพาะโควต้า Local sale รวมถึงการส่งออกด้วย ส่วนในเรื่องผลกระทบต่อโรคระบาด ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาหลักๆคือ อุตสาหกรรมจะเอาตัวรอดต่อความยากลำบากนี้ยังไงในแง่ของอุปทาน ทำอย่างไรถึงจะขายน้ำตาลได้เยอะกว่านี้ ทำอย่างไรถึงจะผลิตได้เยอะมากขึ้นเพื่อการส่งออกด้วยราคาที่สูง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะทุกๆโรงงานกำลังเผชิญความยากลำบากในเรื่องของการขายหรือแม้แต่ในเรื่องของการเงิน”
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลคืออุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ “ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของโรงงานน้ำตาลท่านหนึ่ง เราได้ปรึกษาเรื่องการขาย การพัฒนาธุรกิจต่อไปยังไง จะเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพยังไง รวมไปถึงการลดต้นทุนการผลิต และการสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยมากขึ้นเพื่อส่งออก และสิ่งเหล่านี้ก็คือประเด็นสำคัญที่ต้องหาวิธีหรือแนวทางแก้ไข” ในส่วนของอนาคตของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย คุณรังสิตมองว่า “การช่วยเหลือของรัฐบาลในอุตสาหกรรมน้ำตาล มีความสำคัญมาก เพราะตอนนี้ทุกๆคนกำลังเผชิญกับความยากลำบากของการระบาดไวรัส โดยการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เราพร้อมเสมอที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการสนับสนุนการเพาะปลูกอ้อย เพราะการใช้ประโยชน์จากอ้อยที่ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำตาล แต่เป็นเรื่องของพลังงานด้วย เช่น ไบโอเคมิคอล ที่ยังสามารถต่อยอดไปอีกในอนาคตนอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถสนับสนุนเรื่องการเงินแก่ชาวไร่อ้อย ไปพร้อมๆการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมในประเทศ ซึ่งในส่วนของเกษตรกร เราควรต้องปรับปรุงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในเรื่องระบบชลประทาน ไม่ใช่แค่สำหรับอ้อยเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์สำหรับพืชชนิดอื่นด้วย สิ่งนี้คือการลงทุนระยะยาวซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาผลผลิตภาคเกษตรกรรมที่มีสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะเราต้องมีการบริโภคทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้นคือ ประเทศไทยสถานที่ที่ดีสุดสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร”
ทั้งนี้การรับมือกับผลกระทบการระบาดโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ทางฝ่ายผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อบรรเทาความเสี่ยงในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกอ้อยส่งเข้าโรงงาน เพื่อผลิตน้ำตาลให้ได้มากที่สุด ตลอดจนการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก โดยทางบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยควรเตรียมพร้อมในเรื่องประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงที่สุด ควบคู่กับรณรงค์ให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ และขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นการสอดรับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ของภาครัฐ โดยสิ่งนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมฯ ด้วยเช่นกัน