ก.เกษตรฯ ขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 เล็งเปิดศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมทั่วประเทศ
ก.เกษตรฯ เดินเครื่อง Kick off เปิดศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) ครบ 77 จังหวัด ด้าน “เฉลิมชัย” เตรียมพลิกโฉมภาคการเกษตร 4.0 มั่นใจเกษตรกรไทยเข้าถึง เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบครบวงจร
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิด “ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC)” ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า การขับเคลื่อนนโยบายหลักที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ ตลาดนำการผลิต การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน การลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตร (Big data) และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ ตามนโยบาย Thailand 4.0 คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและภูมิปัญญาในการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรในชื่อ “ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC)” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุน และส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร เป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด ตลอดจนผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ซึ่งศูนย์ AIC ถือเป็นศูนย์กลางในการบริการเกษตรกรที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร สามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน โดยมีรูปแบบโครงสร้าง 1 จังหวัด 1 ศูนย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก
แนวทางการขับเคลื่อนของศูนย์ AIC นั้น จะเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยจะรวบรวมช่างเกษตร ปราชญ์เกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึงกลุ่ม Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งด้าน e-commerce การสร้าง Story และ Packaging รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทย มีองค์ความรู้ และมีเครือข่ายที่ดี ก้าวเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“ศูนย์ AIC มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดความรู้ แนะนำเกษตรกรว่าควรปรับเปลี่ยนอย่างไร โดยใช้เทคโนโลยี ความทันสมัยเข้ามาช่วย ขณะเดียวกันเราก็ไม่ทิ้งความเป็นเกษตรกรของไทย โดยจะนำองค์ความรู้ในส่วนของปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่นมาผสมผสานกับนวัตกรรม เทคโนโลยี หน่วยงานวิจัยในระดับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดวิถีใหม่ในการพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งในส่วนของความรู้ดั้งเดิมของเกษตรกร เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของภาคการเกษตร ทั้งนี้บุคลากรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองก็พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน และขับเคลื่อนศูนย์ AIC ไปพร้อม ๆ กัน” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้ (วันที่ 1 มิถุนายน) ถือเป็นวันที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นวันประชุมเปิดศูนย์ AIC พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการจัดตั้งศูนย์ AIC กับสถาบันการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 69 สถาบัน 83 แห่ง 77 จังหวัด ซึ่งแบ่งประเภทได้คือ มหาวิทยาลัย 26 สถาบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 27 สถาบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 5 สถาบัน สถาบันการอาชีวศึกษา 8 สถาบัน และสถาบันวิทยาลัยชุมชน 3 สถาบัน และมีศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร (Excellent Center) 6 แห่ง
โดยมุ่งเน้นให้จังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตนเอง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระดมพลังจากทุกภาคส่วนภายในจังหวัด ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและความเจริญอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ AIC จะเชื่อมโยงการดำเนินงานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech 2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ 3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce และ 4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) รวมทั้งจะเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร โดยทั้งหมดถือเป็นแนวทางการดำเนินการงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน” นายอลงกรณ์ กล่าว