คาดการณ์แนวโน้มอุปทานน้ำตาลในตลาดโลก ปี 2563-2564
แม้ว่าอินเดียที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อาจมีแนวโน้มที่จะผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น แต่ปริมาณน้ำตาลคงค้างสต็อกที่มีอยู่จำนวนมากก็อาจเป็นตัวการที่ทำให้ราคาน้ำตาลขยับสูงขึ้นไม่มาก แต่ในทางกลับกัน ราคาน้ำตาลอาจจะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ถ้าหากอินเดีย กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และประเทศไทย ได้ลดปริมาณการส่งออกน้ำตาลลง แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลก็ยังคงร่วงลงไปกว่าร้อยละ 30 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เมื่อปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากภาวะการหยุดชะงักจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์
จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในบราซิลและในไทย ประกอบกับปริมาณการส่งออกน้ำตาลในยุโรปลดลง ทำให้อินเดียถูกคาดการณ์ว่า อาจจะมีการพยายามเร่งส่งออกน้ำตาลในช่วงฤดูกาลผลิตในปี 2563/2564 ซึ่งในสถานการณ์ที่ผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกขาดดุล ราคาน้ำตาลในอินเดียคาดว่าจะยังคงทรงตัวถึงระดับที่แข็งแกร่ง แต่สินค้าน้ำตาลที่ค้างสต๊อกเหลืออยู่เป็นจำนวนมากอาจเป็นปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาน้ำตาล
องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ได้คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 171.1 ล้านตัน ส่วนความต้องการบริโภคน้ำตาลในปัจจุบันเท่ากับ 174.6 ล้านตัน การขาดดุลของผลผลิตน้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการผลิตน้ำตาลในกลุ่มสหภาพยุโรป บราซิล และประเทศไทยที่ประเมินว่ามีปริมาณลดลง
บราซิลมีการส่งออกน้ำตาลประมาณหนึ่งในห้าของปริมาณการส่งออกน้ำตาลทั้งหมดของโลก เห็นได้จากปริมาณการผลิตที่ร่วงลงในปี 2563/2564 สาเหตุมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น
ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออกน้ำตาลโลก ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการเพาะปลูกน้อยลงในปีนี้เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งเช่นกัน สหภาพยุโรปได้คาดการณ์และจับตาดูว่าการผลิตน้ำตาลจะลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกัน เป็นผลเนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง และผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัส
ด้วยการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อุปสงค์ของน้ำตาลจากประเทศรายใหญ่ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซียและจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สองอันดับแรก ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น โดยมีข้อมูลว่าอินโดนีเซียกำลังจะมีการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ซึ่งเป็นจำนวนถึง 3.3 ล้านตันในปี พ.ศ. 2564
จีนได้มีการนำเข้าน้ำตาลจำนวน 4.36 ล้านตันแล้ว ในระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะไปเพิ่มในส่วนคลังสินค้าของสารให้ความหวาน
แม้จะมีการให้เหตุผลว่าปริมาณการส่งออกน้ำตาลที่ลดลง เป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลจำนวน 1.5 ล้านตันหรือมากกว่านั้น อินเดียก็มีแนวโน้มที่จะผลิตน้ำตาลได้ 30.5 ล้านตัน ซึ่งมาจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในรัฐมหาราษฏระและรัฐกรณาฏกะ ตามรายงานข้อมูลสำคัญโดยสมาคมโรงงานน้ำตาลของอินเดีย (ISMA) แต่ด้วยปริมาณสินค้าค้างสต๊อกที่มีปริมาณ 10.64 ล้านตันในช่วงต้นฤดูกาลผลิตในปัจจุบัน และปริมาณอุปสงค์ในประเทศที่ยังอยู่ที่ 26 ล้านตัน ส่งผลให้อินเดียจะมีปริมาณน้ำตาลเกินอยู่จำนวน 15 ล้านตัน
อินเดียมีแนวโน้มที่จะสามารถลดปริมาณน้ำตาลส่วนเกินได้มากถึง 6 ล้านตันในการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากทีเดียว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจัดการสินค้าคงคลังที่เหลือให้หมดได้
ส่วนราคาน้ำมันดิบที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปริมาณการส่งออกทั่วโลกที่ลดลง จะเป็นตัวช่วยหนุนอย่างมากให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าน้ำตาลจำนวนมากมายมหาศาล ปริมาณการส่งออกที่แข็งแกร่งต่อเนื่องตลอดฤดูกาล ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ใกล้จะซบเซา ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาน้ำตาล