ค้นพบยาต้านไวรัสตัวใหม่ของโลกทำมาจากน้ำตาล
นักวิจัยระหว่างประเทศได้พัฒนาและปรับปรุงสารต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์จากน้ำตาลซึ่งชี้ว่ามีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยสามารถปรับใช้ได้กับร่างกายของมนุษย์อย่างปลอดภัยและมีศักยภาพเพียงพอที่จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาอาการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากมีรายงานว่าเกิดการกลายพันธุ์และทนทานต่อการรักษาแล้ว
การพัฒนาครั้งใหม่นี้เป็นความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ในหลายๆประเทศ นำโดยมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ มหาวิทยาลัยเจนีวา และสถาบัน EPFL ในกรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แสดงให้เห็นความก้าวหน้าของการรักษา อาทิเช่น ไวรัสที่เป็นสาเหตุโรคเริม รวมถึงไวรัสโรคเริมชนิดที่ก่อให้เกิดแผลพุพอง (cold sore virus) ไวรัสของเซลล์ในทางเดินหายใจ โรคตับอักเสบชนิดซี เชื้อเอชไอวีและไวรัสซิก้า เป็นต้น ทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้แสดงความสำเร็จในการรักษาไวรัสชนิดต่างๆในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการติดเชื้อในทางเดินหายใจและเชื้อโรคในอวัยวะสืบพันธุ์ แม้ว่าจะเป็นการพัฒนาในช่วงเริ่มแรก การค้นพบครั้งใหม่นี้อาจมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสต่างๆ เช่น เชื้อโคโรนาไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้
สาร “กำจัดเชื้อไวรัส” ต่างๆ เช่น สารฟอกขาว โดยปกติมักจะมีความสามารถในการทำลายไวรัสต่างๆ แต่เป็นพิษอย่างรุนแรงต่อมนุษย์และไม่สามารถบริโภคเข้าสู่ร่างกายได้เพราะเป็นอันตราย แต่การพัฒนาสารกำจัดเชื้อไวรัสจากน้ำตาลจะทำให้เกิดการประดิษฐ์ยาต้านไวรัสชนิดใหม่ๆขึ้น ซึ่งสามารถทำลายเชื้อโรคนี้และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะยาต้านไวรัสในปัจจุบัน ทำงานด้วยการขัดขวางการเติบโตของไวรัสแต่ไม่สามารถเชื่อถือได้เสมอไปเพราะไวรัสสามารถกลายพันธุ์และทนทานต่อการรักษาได้
การใช้โมเลกุลที่ปรับปรุงขึ้นใหม่จากน้ำตาลชี้ให้เห็นว่าเปลือกนอกของเชื้อไวรัสสามารถทำให้แตกออกได้ จึงเกิดการทำลายอนุภาคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อจากการสัมผัสได้ ตรงข้ามกับการหยุดยั้งการเจริญเติบโตแต่เพียงอย่างเดียว กระบวนการดังกล่าวยังเน้นย้ำว่าจะไม่เกิดการดื้อยาอีกด้วย
หลังจากตีพิมพ์บทความดังกล่าวในวารสาร Science Advances กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการปรับโมเลกุลใหม่ โดยใช้อนุพันธ์กลูโคสจากธรรมชาติที่รู้จักกันในชื่อของ “ไซโคลเด็กซ์ทริน” ซึ่งโมเลกุลนี้จะดึงดูดไวรัสก่อนทำให้แตกตัวเพื่อทำลายเชื้อโรคดังกล่าวและต่อสู้กับการติดเชื้อ
ดร. ซามูแอล โจนส์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์และสมาชิกของสถาบันเฮนรี รอยส์เพื่อนวัตกรรมแห่งความก้าวหน้า ได้ร่วมเป็นผู้นำในการวิจัยนี้กับดร. วาเลเรีย คาโญจากมหาวิทยาลัยเจนีวา “เราประสบความสำเร็จในการสร้างโมเลกุลตัวใหม่ซึ่งดัดแปลงจากน้ำตาลและแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบในการต้านเชื้อไวรัสอย่างกว้างขวาง กลไกลการต้านไวรัสนี้ทำให้ไวรัสไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ เนื่องจากยังเป็นยาต้านไวรัสประเภทใหม่และเป็นยาตัวแรกที่แสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพในวงกว้าง จึงน่าจะมีศักยภาพในการเปลี่ยนบทบาททางการรักษาการติดเชื้อไวรัสขณะนี้” ดร. ซามูแอลอธิบาย
นอกจากนั้น ศ. คาโรไลน์ แทพพาเรลจากมหาวิทยาลัยเจนีวา และศ. ฟรานเซสโก สเตลลัคซีจากสถาบัน EPFL ยังรับหน้าที่เป็นผู้เขียนบทความอาวุโสของการศึกษาครั้งนี้ด้วย โดย ศ. คาโรไลน์ประกาศว่า “เราได้พัฒนาโมเลกุลที่ทรงพลังเพื่อให้สามารถสู้กับไวรัสหลายประเภท ดังนั้น เราคิดว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการรักษาการติดเชื้อโรคที่เกิดขึ้นในขณะนี้”
โมเลกุลดังกล่าว ยังได้รับการจดสิทธิบัตรและมีโรงงานแห่งหนึ่งที่สนใจตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการส่งเสริมยาต้านไวรัสตัวใหม่ออกใช้ทั่วโลก จากการทดสอบเพิ่มเติม การรักษาสามารถใช้ในรูปของครีม ขี้ผึ้งและยาพ่นจมูกหรือการรักษาในแบบเดียวกันสำหรับการติดเชื้อไวรัส นวัตกรรมใหม่นี้สามารถทำลายไวรัสได้หลายชนิดเพื่อทำให้เกิดการรักษารูปแบบใหม่สำหรับไวรัสที่ดื้อยา.