“จุลินทรีย์ชีวภัณฑ์” ความหวังใหม่เกษตรกรไร่อ้อย กำจัดวัชพืชดีเยี่ยม ไร้สารเคมีตกค้าง
ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากมีการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชอันตราย 3 ชนิด อันได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ทำให้ส่งผลกระทบถึงกลุ่มชาวเกษตรกรไร่อ้อยที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลต่างๆ ด้วย ทำให้เป็นเกิดเป็นประเด็นถัดไปว่า อะไรจะมาเป็นตัวช่วยกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพพอๆ กับสารเคมีสามตัวนี้ที่ถูกแบนไป และคำตอบที่เป็นดั่งความหวังใหม่ของเกษตรกรไทยนั่นคือ “จุลินทรีย์ชีวภัณฑ์” ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริง ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยกับต้นทุนของสารเคมีสามตัวที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแบนไปก่อนหน้านี้ด้วย
เพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนาย วรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืนและ เจ้าหน้าที่ กนท.กกส.และกษ.สุพรรณบุรี และตัวแทนนักวิจัยเอกชน ที่ร่วมกันศึกษา “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์” กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้าตรวจสอบแปลงอ้อยอินทรีย์ของ นายสุรินทร์ ขันทอง บ้านหนองมะค่าโหม่ง ต.หนองมะค่าโหม่ง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีการปลูกอ้อยอินทรีย์ 600 ไร่โดยใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดวัชพืช เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสามารถใช้ได้ผลจริงหรือไม่
หลังมีการตรวจสอบ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการกำจัดวัชพืชที่โดยใช้ “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์” ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ และมีการเสนอข้อมูลจากนักวิจัยเอกชนบางกลุ่มที่ทำงานวิจัยร่วมกับ ม.เกษตรแม่โจ้ แจ้งว่าการใช้ “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์”ที่นำมาช่วยทำการเกษตรทั้งระบบนั้นสามารถใช้ได้ผลจริง ตั้งแต่การปรับปรุงบำรุงดินที่เคยใช้สารเคมี ให้กลับมาเป็นดินที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง รวมถึงต้นทุนที่ไม่ได้สูง มีความปลอดภัยในการใช้ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
มีข้อมูลว่าประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน อินโดนีเซีย และยุโรปหลายประเทศก็ใช้จุลินทรีย์ชนิดนี้ในการแก้ปัญหาเพื่อลดการใช้สารเคมีและก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีทุกประเทศและรัฐบาลให้การสนับสนุน โดยแปลงทดลองที่ส่งเสริมก็อยู่ในกลุ่มแปลงที่ปลอดสารเคมีทั้งหมด โดยมีการศึกษาชัดเจนว่าใช้ได้ผลจริง และสามารถพิสูจน์พื้นที่ในกลุ่มได้เลยว่าไม่มีสารเคมีตกค้างทั้งสิ้น โดยต้นทุนในการใช้ ทั้งการปรับปรุงดินและการใช้จุลินทรีย์ครบวงจรก็ไม่ได้สูง จากดินที่เป็นดินที่ปนเปื้อนสารเคมี ใช้เวลาปรับดินจากเดิมที่มีสารเคมีปนเปื้อนก็ใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็จะไม่มีสารปนเปื้อนในพื้นที่
นายสุรินทร์ ขันทอง เกษตรกรเจ้าของแปลงไร่อ้อยอินทรีย์ ให้ข้อมูลว่า เดิมใช้เคมีและมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันก็มีวัชพืชจำนวนมากและได้พยายามแก้ปัญหามาหลายวิธีจนมาพบชีวภัณฑ์ทางเลือกตามที่มีการแนะนำจึงลองใช้ดู หลังจากใช้มานานกว่า 7 ปี พบว่าการกำจัดวัชพืชสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ และมีสุขภาพแข็งแรง ระบบนิเวศกลับมาดีเหมือนเดิมจึงใช้มาตลอด แต่ขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่ได้มีการใช้แพร่หลาย เนื่องจากยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากภาครัฐมีการขึ้นทะเบียนให้คาดว่าน่าจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้มากขึ้นด้วย จึงอยากขอให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
ด้านนายฐปนรมย์ แจ่มใส นักวิจัยอิสระร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึงนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอเข้าให้ข้อมูลจากทางกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการใช้จุลินทรีย์เพื่อกำจัดวัชพืชในการประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงเกษตรฯประกาศนโยบายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และผลักดันยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ทั้งหมดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร และได้ศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และใช้ในแปลงทดลองและพิสูจน์ว่าได้ผลจริง หากมีข้อสงสัยก็พร้อมจะให้ความร่วมมือหรือการทดลองในทุกด้าน และที่ผ่านมาก็ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเกษตรกรและผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในหลายประเทศ จึงไม่อยากให้เกษตรกรไทยเสียโอกาส
“โดยได้ทำการศึกษาการใช้จุลินทรีย์กำจัดวัชพืช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน สามารถใช้ทดแทนสารเคมีอันตรายที่กำลังผลักดันให้ยกเลิกใช้อยู่ในขณะนี้ โดยได้นำจุลินทรีย์ไปใช้ในแปลงจริงของเกษตรกรที่ ต.ดอนกล่ำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรและภาคเกษตรโดยรวมเกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ จึงขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯพิจารณา” นายฐปนรมย์ กล่าว
ทั้งนี้ในฐานะนักวิจัย นายฐปนรมย์ให้ข้อมูลเสริมว่า ในส่วนของจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ไม่สามารถนำไปผสมในส่วนสารเคมีได้ เพราะจุลินทรีย์คือสิ่งมีชีวิต ไม่สามารถอยู่ในสารเคมีได้เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ตายทันที ส่วนที่มีความกังวลว่าจุลินทรีย์ ที่จะมีการผลิตเป็นสารกำจัดวัชพืชและปุ๋ย จะมีการกลายพันธุ์ส่งผลกับระบบนิเวศ ขอยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะโดยโครงสร้างจุลินทรีย์เป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ทำให้เกิดอันตราย
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาส การผลักดันส่งเสริมการใช้ “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์” ให้เป็นรูปร่างชัดเจน และได้รับการจดทะเบียนกับทางกรมวิชาการ ก็จะเป็นการช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมถึงกลุ่มชาวเกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังมีผลการวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่าไม่มีสารตกค้างปนเปื้อน ซึ่งหากมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ปัญหาเรื่องสารทดแทนที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชก็จะหมดไป ซึ่งส่งผลดีและเป็นการสนับสนุนต่อเกษตรกรไทยอย่างมาก