ญี่ปุ่นเล็งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเอทานอลชีวภาพที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร
Sumitomo Corp. บริษัทเทรดดิ้งของญี่ปุ่นประกาศแผนสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพขนาดใหญ่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารแห่งแรกของเอเชียในประเทศไทย โดย Sumitomo จะเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการนี้ร่วมกับบริษัทในไทย
Sumitomo ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจของโครงการร่วมกับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเป็นบริษัทในกลุ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
โดยบริษัททั้งสองแห่งกำลังอยู่ในกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าด้วยการผลิตเอทานอลชีวภาพเพื่อจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ซึ่งผลิตมาจากชานอ้อยที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการหีบอ้อย
นอกเหนือไปจากการลงทุนในด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศไทยจากบริษัททั้งสองแห่งนี้แล้ว ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสินค้าในครัวเรือนจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง Kao ก็เล็งที่จะทดสอบการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ณ ประเทศไทยภายในทศวรรษนี้
เอทานอลชีวภาพเป็นสิ่งที่คนรักษ์โลกมองว่ามีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปัจจุบันได้รับความนิยมสูงขึ้นในการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์และอากาศยานเนื่องจากมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ผู้ผลิตพลาสติกก็ได้นำเอทานอลชีวภาพมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนสารปิโตรเคมีกลุ่มแนฟทาที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมอีกด้วย
แต่ก็มีผู้ที่ออกมาคัดค้านว่าการแปรสภาพที่ดินเพาะปลูกให้รองรับการปลูกพืชเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นมีความเสี่ยงที่จะไปซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนอาหารในประเทศ อย่างไรก็ตามเชื้อเพลิงชีวภาพในยุคที่สองซึ่งผลิตมาจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเช่นชานอ้อยดูจะมีศักยภาพในการเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้
คาดว่าโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทยของ Sumitomo จะเริ่มก่อสร้างได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2025 และยังไม่ได้มีการตั้งเป้าปริมาณผลผลิตเอาไว้ ทางบริษัทฯ ระบุว่าแผนการตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในลักษณะนี้ถือเป็นครั้งแรกของทวีปเอเชีย
มีการประเมินว่าผลผลิตเอทานอลชีวภาพทั่วโลกอยู่ที่ 100 ล้านตันต่อปี โดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดคือสหรัฐอเมริกาและบราซิล
กรรมวิธีในการผลิตเอทานอลชีวภาพที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปจะนำพืชที่เป็นแหล่งอาหารอย่างอ้อยและข้าวโพดมาเป็นวัตถุดิบ แม้ว่าราคาจำหน่ายของเอทานอลชีวภาพจะต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นอยู่เล็กน้อย แต่ก็ไปส่งผลกระทบให้ราคาของอาหารปรับตัวสูงขึ้น ราคาข้าวโพดในตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าพุ่งทะยานขึ้นจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนจนการส่งออกธัญพืชต้องหยุดชะงัก ประกอบกับราคาเชื้อเพลิงที่ดีดตัวสูงขึ้น
ในประเด็นนี้ นักลงทุนในสินค้าธัญพืชของบริษัทซื้อขายสินทรัพย์จากญี่ปุ่นอธิบายให้ฟังว่า “เกษตรกรต้องขายพืชผลที่ปลูกได้เพื่อไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้พืชผลมีราคาแพงกว่าการนำไปผลิตเป็นอาหาร”
ทั้งนี้กลุ่มผู้สนับสนุนเอทานอลชีวภาพได้ออกมาชี้แจงว่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่บริโภคไม่ได้อย่างเช่นชานอ้อย ใบอ้อย และลำต้นอ้อยสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงโดยจะส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารน้อยกว่า
Kao ผู้ผลิตสินค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่ผงซักฟอกยันสบู่ก็กำลังอยู่ระหว่างการคิดค้นกรรมวิธีผลิตเอทานอลชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือทิ้งหลังการสกัดแป้งมันสำปะหลัง ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลังคือเม็ดไข่มุกที่นิยมนำมาใส่ในเครื่องดื่มชานม
บริษัท Kao วางแผนที่จะทดสอบเดินสายการผลิตเอทานอลชีวภาพจากเศษมันสำปะหลังในประเทศไทยประมาณปี 2027
เชื้อเพลิงชีวภาพในยุคที่สองมีกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อนและต้องใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในปริมาณมหาศาล จึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนจะบานปลาย
ประเทศไทยซึ่งเป็นตัวเลือกของ Sumitomo และ Kao ในการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเอทานอลชีวภาพยุคที่สองคือหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลและมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงเรียกได้ว่าไทยคือแหล่งวัตถุดิบอันอุดมสมบูรณ์ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ