ติดตามสถานการณ์ภาษีความหวาน ส่งผลคนไทยบริโภคน้ำตาลลดลง
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้มีการประเมินถึงการบริโภคน้ำตาลในประเทศเนื่องจากการปรับขึ้นภาษีความหวาน ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศต่ำลง เพราะนอกจากการขึ้นภาษีความหวานแล้ว ยังรวมถึงไปเทรนด์การรักสุขภาพที่กำลังมาแรงและผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนสูตรในเครื่องดื่มเพื่อลดความหวาน เพื่อไม่ต้องแบกต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทาง สอน. ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เปิดเผยว่า “มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีความหวาน อาจทำให้ภาคเอกชนหลายรายเปลี่ยนสูตรการผลิตสินค้า โดยใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลและทำให้ในอนาคตความต้องการอ้อยที่นำมาใช้ผลิตน้ำตาลลดลง จนส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเรื่องดังกล่าวสอน.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”
หากมีการพิจารณาปริมาณการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีปริมาณการบริโภคอยู่ที่ 2.6 ล้านตัน ปี 2561 มีปริมาณการบริโภคอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน และในปี 2562 จนมาถึงปัจจุบัน มีการบริโภคน้ำตาลทรายไปแล้ว (ตั้งแต่เดือนม.ค. – ก.ค.) จำนวน 1.46 ล้านตัน และไทยคาดว่าจะมีปริมาณการบริโภคในปีนี้ประมาณ 2.6 ล้านตัน จะเห็นได้ว่าจากการการบริโภคน้ำตาลทราย 3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณใกล้เคียงกัน
มีข้อมูลว่า การบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศแบ่งเป็น 2 ประเภท คือผู้บริโภคโดยตรงและผู้บริโภคโดยอ้อม โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้บริโภคโดยอ้อมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 มีปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 5.8 แสนตัน และปริมาณการจำหน่ายในปี 2562 อยู่ที่ 5.7 แสนตัน จะเห็นได้ว่ามีปริมาณใกล้เคียงกันโดยลดลงราว 10,000 ตัน และจากสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลของไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 12 –14 % ขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศและการส่งออกน้ำตาลมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ประมาณ 5 – 6% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำตาลของไทยเพิ่มสูงขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะราคาอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ก็ยิ่งเป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของราคาอ้อยที่ตกต่ำ ซึ่งการขึ้นภาษีความหวานอาจเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสนิยมการบริโภคน้ำตาลของคนไทยที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับการรักษาสุขภาพ
ดังนั้น ทาง สอน. จะติดตามสถานการณ์เกี่ยวเรื่องนี้ต่อไป และเล็งเห็นถึงการนำอ้อยและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ถือเป็นทางออกและการเพิ่มมูลค่าและเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ยั่งยืน ซึ่งทาง สอน. เองก็จะดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต่อไป