บทสรุป 1 ปีเต็ม หลังไทย “ลอยตัวราคาน้ำตาล”
ยังคงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยกับกรณีที่บราซิลมีการยื่นฟ้องประเทศไทยต่อองค์กรการค้าโลก
หรือ WTO เพื่อหารือเรื่องนโยบายการส่งออกน้ำตาลในลักษณะที่ขัดกับข้อตกลงของ WTO เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา สร้างความกดดันให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลไทยต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการแก้ไขกฏหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล และยกเลิกน้ำตาลออกจากบัญชีสินค้าควบคุม
สาเหตุของการตั้งข้อฟ้องร้องในครั้งนี้เนื่องจากบราซิลมีความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไข พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2557 ของประเทศไทย ในการกำหนดระบบโควต้าของน้ำตาล ซึ่งได้จัดแบ่งเป็น โควตา ก. (น้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ) โควตา ข. (น้ำตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย) โควตา ค. (น้ำตาลดิบหรือน้ำตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) ที่มีการกำหนดทั้งปริมาณและราคา รวมถึงโครงการช่วยเหลือชาวไร่ ด้วยการกำหนดราคารับซื้ออ้อย และการใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาล เป็นการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากยิ่งขึ้น
ซึ่งนายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า “กลไกราคาน้ำตาลในประเทศจะอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ซึ่งจะแข่งขันกันตามความเป็นจริง เป็นการส่งสัญญาณว่าไทยมีเจตนาในการพยายามปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย และแสดงบทบาทให้โลกเห็นว่า ไทยยอมรับในกติกาการแข่งขันโลก ควบคู่ไปกับการแก้ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. … ซึ่งเมื่อกฎหมายเสร็จ บวกกับการปรับโครงสร้างอ้อยฯ ทั้ง 2 ส่วนถึงจุดที่ปฏิบัติได้จนสอดรับกัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยระบบจะสมบูรณ์”
นอกจากนี้ผู้นำของสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาคมชาวไร่อ้อย ยังได้ให้ข้อมูลด้วยว่า “ขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย ประมาณ 1 บาท แต่ก็ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยังทรงตัว ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยตรง เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบอย่าง อุตสาหกรรมน้ำดื่ม อุตสาหกรรมอาหาร/เบเกอรี่ ถึงแม้ว่าระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวไร่จะอยู่ที่ 70 : 30 ก็ยังคงได้รับผลกระทบทำให้รายได้ลดลงจากราคาขายน้ำตาลที่ลดลง ในขณะที่ต้นทุนยังเท่าเดิม ซึ่งชาวไร่อ้อยเองก็ต้องยอมรับกติกาและกลไกที่มันได้ขับเคลื่อนไป” นายนราธิป อนันตสุขกล่าว
อย่างไรก็ตามการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลกว่า 1 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย นับว่าเป็นผลดีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะในขณะนี้บราซิลได้ระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษา (Panel) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว (เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561) เนื่องจากพอใจการแก้ไขปัญหาทั้งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามกลไกตลาด ยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย และให้มีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณสำรองที่กำหนด (Reserve Stock) เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขที่สอดคล้องตามข้อตกลง WTO
ซึ่งแน่นอนว่าการลอยตัวราคาน้ำตาล รวมถึงระบบและกลไกเดิมของไทยที่ใช้อยู่ยังไม่เข้าที่ และอยู่ในระหว่างการปรับตัว รวมถึง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไข หลังจากผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 ไปแล้ว
ประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องจับตามองกันต่อไป คือ การกำหนดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์วัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อย เช่น การนำ “น้ำอ้อย” ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น เอทานอล ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งระบบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่จากนี้จะไม่ใด้มีเพียงการสร้างรายได้มากขึ้น แต่ก็จะนำมาสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่ด้วยหรือไม่
ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย โดยคาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตปี 61/62 อ้อยเข้าหีบน่าจะมีปริมาณลดลงจากฤดูการผลิตปี 60/61 จากสภาวะทางอากาศที่แปรปรวน บวกกับการบริโภคน้ำตาลที่อาจจะลดลงเล็กน้อย จากการรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพและที่มีการผลักดันเก็บภาษีความหวาน
“แต่ในขณะเดียวกันก็ได้คาดการณ์ว่า supply จะมากกว่า demand ส่งผลให้สต๊อกของโลกที่ปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านตัน จะลดลง 1-2 ล้านตันในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวจากเดิม แต่จะยังไม่มีผลต่อราคาขายปลีกในประเทศไทยทันที”
นอกจากนี้นายสิริวุทธิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการลอยตัวราคาน้ำตาล ทางสมาคมอยู่ระหว่างประมวลผลที่ผ่านมาตลอด 1 ปี โดยรวบรวมข้อมูลเชิงบวกและลบ เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่จะได้รับผลกระทบกันทั้งหมด แน่นอนว่าจะได้เห็นราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลง เพราะสต๊อกน้ำตาลยังมีปริมาณมากสูงถึง 10 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ London No.5 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานยังทรงตัว กก.ละ 17-18 บาท”
และจากข้อมูลการเก็บอ้อยเข้าหีบฤดูกาล 61/62 ในปัจจุบัน ณ. วันที่ 12 มีนาคม 2562 ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เผยให้เห็นว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีการเก็บอ้อยเข้าหีบไปแล้วประมาณ 109,546,357.394 ตัน จำแนกเป็นอ้อยสดจำนวน 44,759,450.764 ตัน และอ้อยไฟไหม้จำนวน 64,786,906.630 ตัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน