บราซิลผลิตอ้อยจีเอ็ม ผลักดันส่งออกไปยังประเทศจีน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของบราซิลเปิดเผยว่ากำลังดำเนินการเพื่อให้ประเทศจีนรับรองอ้อยดัดแปลงพันธุกรรมจากทางการจีนตามแผน
รัฐมนตรีเทเรซา คริสติน่า ดิอาส กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ในกรุงปักกิ่งว่า เธอมีแผนที่จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือในการเข้าพบกรมศุลกากรจีน โดย ดิอาสมีแผนที่จะอธิบายทางการจีนว่าน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยดัดแปลงพันธุกรรมจะไม่มียีนที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมหลงเหลืออยู่หลังกระบวนการผลิตน้ำตาลแล้วอย่างแน่นอน
ดิอาสกล่าวว่าบราซิลส่งออกน้ำตาลปกติและจะส่งออกน้ำตาลที่มาจากอ้อยดัดแปลงพันธุกรรมด้วย โดยเธอเน้นย้ำว่าตัวน้ำตาลนั้นไม่ได้ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และอธิบายว่าทำไมน้ำตาลไม่ควรถูกพิจารณาในทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม
อ้อยดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Cane Technology Center ในประเทศบราซิล ซึ่งสามารถต่อต้านศัตรูพืชอย่างหนอนกออ้อยและช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาฆ่าแมลงให้กับชาวไร่ได้ โดยรัฐบาลบราซิลรับรองให้ใช้อ้อยดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ได้และองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ก็รับรองว่าน้ำตาลจากอ้อยดังกล่าวปลอดภัยต่อมนุษย์
บราซิลมีแผนที่จะใช้อ้อยดัดแปลงพันธุกรรมอย่างแพร่หลายในหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า โดย ดิอาสกล่าวว่าการผลิตอ้อยสายพันธุ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในบราซิล ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องหารือกับรัฐบาลจีนที่มีนโยบายด้านอาหารดัดแปลงพันธุกรรมที่เข้มงวด โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐบาลบราซิลเรียกร้องให้ประเทศในอาเซียนปรับปรุงกระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม
เป็นที่รู้กันว่าบราซิลเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลกและถั่วเหลืองที่ส่งออกส่วนใหญ่จะผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิล เอิร์นเนสโต อาราโฮ กล่าวว่าภาคเอกชนของบราซิลสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหากคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพของจีนรับรองให้สามารถนำเข้าได้ เขายังเสริมว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลจีนจะต้องปรับปรุงกระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมจากบราซิลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ออร์แลนโด เลเต ริเบโร่ เลขานุการด้านการต่างประเทศประจำกระทรวงเกษตรกล่าวว่า ปัจจุบันคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพของจีนใช้เวลาราวห้าถึงหกปีในการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมใหม่ เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่ใช้เวลาเพียงราว 240 วันเท่านั้น
ดิอาสกล่าวว่าเธอมีแผนจะนำเสนอปัญหาของโรงงานเนื้อสัตว์กว่า 79 แห่งที่กำลังดำเนินการขอรับรองจากรัฐบาลจีนเพื่อส่งออกเนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อประเภทอื่น เธอยังเสริมว่าบราซิลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถจัดหาเนื้อสัตว์ปริมาณมากให้จีนได้เมื่อผลผลิตเนื้อหมูลดลงอย่างมากในปลายปีนี้จากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร