บราซิลเผชิญภัยแล้ง น้ำตาลไทยและอินเดียเตรียมรับมืออุปทานที่จะเพิ่มขึ้น
ไฟป่าและภัยแล้งในบราซิลที่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำตาลโลก ทำให้ไทยและอินเดียต้องเร่งผลิตเพื่อชดเชยผลผลิตที่สูญเสียไป อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศได้รับสัญญาณเตือนว่าพวกเขาเองก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
สัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าในตลาดพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากความกังวลของผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของบราซิลต่อผลกระทบจากไฟป่า ความร้อน และภัยแล้ง ส่งผลให้เกิดการขึ้นราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ตั้งแต่เครื่องดื่มอัดลมและขนม ซึ่งผู้ค้าเริ่มหันมาจับตาการผลิตของผู้ผลิตสำคัญรายอื่น ๆ
ข่าวดีก็คือผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกอันดับสอง มีแนวโน้มฟื้นตัวในฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีพ.ศ. 2567-2568 อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำท่วมในเดือนกันยายนถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงจากสภาพอากาศ ทำให้เกิดความกังวลว่าการเก็บเกี่ยวอาจจะเกิดความล่าช้าหากฝนยังคงตกหนักอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อินเดีย ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสอง สืบเนื่องจากนโยบายการสนับสนุนการผลิตเอทานอล รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะขยายเวลาในการควบคุมการส่งออกน้ำตาลออกไปอีก
“ตลาดน้ำตาลอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง และเพียงแค่มีปัจจัยเล็กน้อยอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤติได้” เฮนริก อคาไมน์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์น้ำตาลและเอทานอลของ Tropical Research Services กล่าว
ผลกระทบต่ออุปทานน้ำตาลในตลาดอย่างไม่คาดคิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในบราซิล ทำให้สัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าในนิวยอร์กพุ่งขึ้นกว่า 20% ในเดือนกันยายน การเพิ่มขึ้นของราคายังได้รับแรงหนุนจากนักเก็งกำไรที่กลับมามองตลาดในเชิงบวกอีกครั้งและเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยตลาดยังคงมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีก เนื่องจากราคาสถานะคำสั่งซื้อ (Long position) ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดในอดีต จอห์น สแตนส์ฟิลด์ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก DNEXT Intelligence กล่าว
“น้ำตาลมีหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานขาขึ้นที่ชัดเจนที่สุด” เขากล่าว “นักลงทุนมองเห็นช่องว่างในงบดุลของน้ำตาลดิบในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2568 ดูเหมือนว่ากลุ่มผู้ค้ากำลังพยายามพิจารณาว่าน้ำตาลดิบจากไทยจะสามารถเติมเต็มช่องว่างนี้ได้อย่างไร”
ตลาดน้ำตาลดิบอาจเผชิญการขาดดุลการค้าทั่วโลกถึง 2.2 ล้านตันในไตรมาสแรก ตามการประเมินของอคาไมน์ ขณะที่นักวิเคราะห์อิสระ คลอเดีย โควริก คาดว่าปริมาณดังกล่าวจะอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลจะต่ำกว่าความต้องการบริโภคถึง 3.6 ล้านตันในปี 2567-2568 ถือว่าขาดแคลนมากกว่าฤดูกาลปัจจุบันที่กำลังจะสิ้นสุดลง
อุปทานน้ำตาลที่สูงขึ้นอาจทำให้ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกหากยังประสบปัญหาด้านการเก็บเกี่ยวมากขึ้น
ณ ตอนนี้คาดว่าผลผลิตน้ำตาลของไทยในฤดูกาลปี 2567-2568 จะอยู่ที่ 10.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 8.8 ล้านตันในปีที่ผ่านมา ตามการประเมินค่าเฉลี่ยจากนักวิเคราะห์และผู้ค้า 8 รายที่ Bloomberg รวบรวมข้อมูลไว้
แม้เร็ว ๆ นี้จะไม่มีสัญญาณเตือนน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก แต่ตลาดยังคงจับตามองสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากฝนยังตกต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน อาจทำให้การหีบอ้อยในฤดูกาลการเก็บเกี่ยวใหม่ล่าช้าออกไปจนถึงเดือนมกราคม ซึ่งล่าช้ากว่าปกติประมาณหนึ่งเดือน คุณวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวในการให้สัมภาษณ์
ความล่าช้าใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นอาจเสี่ยงต่อการทำให้ซัพพลายเข้าสู่ตลาดโลกติดขัดในช่วงเวลาที่การส่งออกของบราซิลชะลอตัว ซึ่งอคาไมน์ จากบริษัท Tropical Research Services กล่าวว่า “อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง”
สถานการณ์การผลิตน้ำตาลของอินเดีย
การผลิตน้ำตาลของอินเดียคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตัน หลังจากการผันไปผลิตเอทานอล ตามการประเมินค่าเฉลี่ยจากผู้ค้าและนักวิเคราะห์ 11 ราย คาดว่าน่าลดลงประมาณ 2 ล้านตันจากปีก่อน ทั้งนี้ แนวโน้มจะแตกต่างกันออกไปเนื่องมาจากความแตกต่างด้านพื้นที่เพาะปลูก
ซึ่งยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศอื่นหรือไม่ โดยปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขยายข้อจำกัดการส่งออกเพื่อควบคุมราคาภายในประเทศก่อนการเลือกตั้ง และในเดือนที่แล้ว รัฐบาลได้ยกเลิกข้อจำกัดที่ให้โรงงานน้ำตาลและโรงงานกลั่นใช้น้ำอ้อยในการผลิตเอทานอล เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผสมในน้ำมันเบนซิน ในขณะเดียวกันอาจจะยืดเวลาการห้ามส่งออกน้ำตาลออกไปอีก
ในทางทฤษฎี อินเดียควรมีน้ำตาลเพียงพอที่จะส่งออกได้ 1.8 ล้านตันในปี 2567-2568 และอาจผ่อนปรนข้อจำกัดการส่งออกหากมีอุปทานภายในประเทศเพียงพอ ราฮิล เชค กรรมการผู้จัดการของ Meir Commodities India Pvt บริษัทการค้าในมุมไบกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจของ Bloomberg ส่วนใหญ่ไม่คิดว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้มีการส่งออก นอกจากนี้ จอห์น สแตนส์ฟิลด์ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก DNEXT Intelligence ไม่คาดหวังว่าอินเดียจะสามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้เต็มที่มากนัก
“ในตอนนี้ สถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่าอินเดียจะให้ความสำคัญกับภาคส่วนเอทานอล และตลาดน้ำตาลโลกไม่สามารถคาดหวังได้ว่าอินเดียจะเข้ามาช่วยเหลือ” เขากล่าว