‘บอนซูโคร’ เล็งยกระดับอุตฯ น้ำตาลไทยสู่ความยั่งยืน
แน่นอนว่าการรับรองมาตรฐาน คือ สิ่งจำเป็นต่อการสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลกต่อสินค้าและบริการ รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลด้วย ซึ่ง บอนซูโคร (Bonsucro) ถือเป็นหน่วยงานด้านการรับรองคุณภาพการผลิตด้วยกระบวนการที่ยั่งยืนของสินค้าทราบดีว่าแม้คุณภาพน้ำตาลของไทยขึ้นชื่ออยู่แล้ว แต่บางครั้งลูกค้าก็ยังขาดความมั่นใจเนื่องจากไม่มีสิ่งใดรับรองคุณภาพ คุณริค ลิว ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบอนซูโคร จึงมาร่วมสนทนาว่า บอนซูโครจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของไทย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและมีความยั่งยืนมากขึ้นในยุคต่อไปได้อย่างไร
คุณลิว กล่าวว่า บอนซูโครก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 โดยใช้ชื่อว่าโครงการริเริ่มผลิตภัณฑ์อ้อยที่ดีกว่า (Better Sugarcane Initiative) จากความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน และเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดี รวมถึงมีความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานการผลิตระดับโลก และมีหลักเกณฑ์ชัดเจนในการประเมินทุกสิ่งที่มีผลต่อการผลิตอ้อยและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากอ้อย
ต่อมาเมื่อปี 2554 หน่วยงานนี้เปิดตัวโครงการการให้มาตรฐานการผลิต (Production Standard) ของตัวเอง โดยเริ่มระบบการรับรองมาตรฐาน และเปลี่ยนชื่อเป็น บอนซูโคร จนถึงปัจจุบัน คุณลิว เล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลา 4 ปีหลังจากนั้น บอนซูโครยังแสดงศักยภาพในการจัดการและรักษาทั้งกรอบการทำงานเบื้องหลังการให้มาตรฐานและการผันตัวเองสู่หน่วยงานรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อ้อยระดับโลก ขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมนี้
ก้าวแรก “บอนซูโคร” สู่บทบาทผู้นำในอ้อยน้ำตาลไทย
สิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าในปีนี้บอนซูโครกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้น คือ การจัดงานประชุมใหญ่ประจำปีของหน่วยงานเมื่อวันที่ 11-13 มีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อว่า สัปดาห์โลกบอนซูโคร (Bonsucro Global Week)
คุณลิว อธิบายถึงเหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานว่า มาจากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตอ้อยชั้นนำชาติหนึ่ง และสมาชิกของบอนซูโครจำนวนมากก็มีความเคลื่อนไหวในประเทศไทย และไทยเองยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ยอดเยี่ยมในการจัดการประชุมครั้งนี้
“ไทยเป็นผู้ผลิตอ้อยมากที่สุด 1 ใน 10 ชาติแรก ไทยยังส่งออกน้ำตาลไปยังหลายประเทศด้วย ไทยถือเป็นผู้ส่งออกหมายเลข 1 ในเอเชียแปซิฟิกในแง่ของปริมาณ และเป็นอันดับ 2 ของโลก” คุณลิว กล่าว
นอกจากงานดังกล่าว ที่ผ่านมาบอนซูโครคิดค้นเครื่องมือต่างๆ ในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างเช่นการเปิดตัวแผนยกระดับไทย (Thai Accelerator Plan) เมื่อเดือน มี.ค. 2561 โดยมีเป๊ปซี่โค เป็นผู้สนับสนุนหลักรายหนึ่ง ซึ่งเป๊ปซี่โคเองยังจับมือกับเนสท์เล่ในการรับซื้อน้ำตาลอ้อยที่ผ่านการผลิตที่ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จในประเทศไทยเช่นกัน
แผนการที่ว่ามานี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย ที่บอนซูโครเป็นผู้จัดขึ้น ซึ่งงานนี้มีการพูดถึงความท้าทายหลักที่อุตสาหกกรรมเผชิญ และมีการตกลงเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนโรงงานน้ำตาลชั้นนำที่เข้าร่วมแผนการดังกล่าว มีตั้งแต่มิตรผล, ไทยรุ่งเรือง, ไทยรุ่งเรือง (สระบุรี), ขอนแก่น, กลุ่มโรงงานน้ำตาลเคไอ, เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์, น้ำตาลและอ้อยตะวันออก, น้ำตาลเกษตรผล, น้ำตาลครบุรี, ต่างเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว พร้อมกับหุ้นส่วนที่หลากหลายของบอนซูโครจำนวนมาก
โรงงานน้ำตาล 50% จ่อร่วมมาตรฐานบอนซูโครปี 63
อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลไทยหลายแห่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกของบอนซูโคร แปลว่าโรงงานน้ำตาลหลายแห่งยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต ถึงอย่างนั้น คุณลิว เผยว่าบอนซูโครตั้งเป้าที่จะเข้าถึงเกษตรกร 80,000 รายและโรงงานน้ำตาล 20 แห่ง หรือ 50% ของโรงงานผลิตน้ำตาลไทย ให้ได้ภายในปี 2563 และจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลไทยที่ผ่านการรับรองให้มาอยู่ที่ 3 ล้านตัน
ยิ่งไปกว่านั้น บอนซูโครได้แสดงบทบาทในการแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีปฏิบัติที่ดีในการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำตาลที่ได้รับการรับรองจากบอนซูโครให้กับโรงงานน้ำตาล โดยการพัฒนาและนำโครงการที่จะสร้างผลลัพธ์ เพื่อช่วยจัดการกับความท้าทายต่างๆ ของเกษตรกร
โอบรับเกษตรกรรายย่อย
กรณีที่กล่าวมาอาจใช้ไม่ได้กับเกษตรกรรายย่อยในไทย เนื่องจากการผลิตที่แตกต่างจากฟาร์มขนาดใหญ่ บอนซูโคร ยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องยากในการนำมาตรฐานการผลิตมาปรับใช้ให้เข้ากับเกษตรกรกลุ่มนี้
ดังนั้นการทำให้วิสัยทัศน์ของบอนซูโครบรรลุเป้าหมาย ครอบคลุมถึงเกษตรกรและโรงงานทุกกลุ่มอย่างแท้จริง บอนซูโครจึงสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ที่มีชื่อเรียกว่า มาตรฐานการผลิตสำหรับเกษตรกรรายเล็ก (Production Standard for Smallholder Farmers)
โรงงานน้ำตาลเริ่มเกาะเทรนด์ “ความยั่งยืน”
ขณะเดียวกัน บอนซูโครยังมีเป้าหมายในการสื่อสารให้โรงงานทราบว่าผู้ซื้อมีความคาดหวังว่าน้ำตาลที่ผลิตมานั้นผ่านกระบวนการที่ยั่งยืน หรือแม้แต่การหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน และการหาพันธมิตรที่มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมาช่วยให้โรงงานน้ำตาลและเกษตกรได้รับการสนับสนุนอื่นๆ ที่ต้องการให้นำวิธีการผลิตแบบยั่งยืนมาใช้
ความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่คุณลิวเล็งเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่จะทำให้โรงงานน้ำตาลไทยปรับตัวเพื่อยกระดับการผลิตน้ำตาลของตัวเอง
“อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลของไทย มีความสำคัญระดับโลกอยู่แล้ว ผมจึงเห็นความต้องการจากอุตสาหกรรมนี้ที่จะเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งสิ่งนี้รัฐบาลไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมและบริษัทโรงงานน้ำตาลไทย ก็สนับสนุนอยู่แล้ว อีกทั้งโรงงานหลายแห่งพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะก้าวไปสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ผ่านการรับรองจากบอนซูโคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดการแข่งขันของตัวเองให้สูงขึ้น” คุณลิว ให้ความเห็น
ยิ่งไปกว่านั้น ความยั่งยืนในแง่ของกฎหมายยังมีความสำคัญด้วย คุณลิวชี้ว่ามาตรฐานการผลิตของบอนซูโครมีหลักเกณฑ์ และตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว