ปรับตัวรับสังคมนิวนอร์มอล เกษตรกรต้องเปลี่ยนแค่ไหน
วิถีชีวิตคนกำลังก้าวสู่ยุคนิวนอร์มอล การดำเนินชีวิตจะเปลี่ยนไป...เกษตรกรจะต้องปรับตัวกันอย่างไร
ยุคนิวนอร์มอล เกษตรกรต้องปรับตัวมาผลิตอาหารปลอดภัย หรือเกษตรอินทรีย์ ตามกระแสผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พัฒนาสู่การผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เลิกปลูกหรือแปรรูปสินค้าซ้ำๆ หลีกเลี่ยงการล้นตลาด ทำให้ได้ราคาต่ำ ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชตามแผนที่ Agri-map ที่จัดโซนนิงไว้แล้ว พื้นที่ใดควรปลูกพืชตัวไหนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ดิน ฟ้า อากาศ เพื่อให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ เพราะพื้นที่เหมาะสม การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะน้อยลง แต่ต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำกันแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจต้องอาศัยเกษตรกรต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ มุ่งสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความเห็นถึงการผลิตในยุคนิวนอร์มอลไปไกลถึงขนาด…เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนก้าวเข้าสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หันมาพึ่งพางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ประยุกต์สู่การแปรรูปเพิ่มมูลค่า เน้นอาหารเป็นยา อาหารสุขภาพ และกลุ่มสมุนไพร ที่สำคัญต้องรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง
จะให้ดีควรแบ่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานจะดีกว่าทำพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว เพื่อลดความเสี่ยง…เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีโรคอุบัติใหม่ให้ต้องล็อกดาวน์ อยู่บ้านหยุดเชื้อแบบนี้ เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่
ถ้ามีอย่างน้อยที่สุดยังมีพืชผักให้กินหลากหลาย ที่เหลือยังสามารถขายสร้างรายได้เล็กๆน้อยๆได้
ส่วนการตลาดก็ต้องปรับตัวขายให้เป็น พยายามตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง ดูแนวโน้มความต้องการของตลาด ใช้ตลาดนำการผลิต ผลิตสินค้าที่มีตลาดรองรับ ใช้ช่องทางการขายที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการขายออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างมาก และเติบโตแบบก้าวกระโดดในยุคนิวนอร์มอล
สำหรับภาครัฐต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนในอดีต
ต้องนำงานวิจัยต่างๆที่ไม่เคยใช้ประโยชน์จากหิ้งสู่ห้าง ให้เกษตรกรจับต้องได้ ขณะเดียวกันต้องทำมาตรฐานต่างๆให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรแทนที่จะคอยกำหนดนโยบายให้ทำตาม เพราะเรื่องการเกษตรคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเกษตรกร
ความเห็นของนักวิชาการ ผศ.ดร.มณฑล ฐานุตตมวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (รักษาการ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองไปในทำนองเดียวกัน…เกษตรกรยุคนิวนอร์มอลต้องปรับตัวจำต้องมีทักษะรอบด้าน รับความรู้ใหม่ๆ มาต่อยอด ประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลาง เหมือนเป็นลานประลองหรือปล่อยของให้กับเกษตรกรรวมถึงนักศึกษา ให้ได้เรียนรู้ทักษะ ปล่อยทักษะต่างๆ …กระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความกระตือรือร้นอยากรู้ อยากวิจัยร่วม อยากหาคำตอบได้เอง ไม่ใช่รอขอคำตอบจากอาจารย์หรือผู้รู้เท่านั้น เมื่อทำให้เกษตรกรมีส่วนร่วมได้ จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใช่คิดกันเองในหมู่นักวิชาการ
การผลิตต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อความเชื่อถือไว้เนื้อเชื่อใจของผู้บริโภค…ต้องไม่เน้นปริมาณผลผลิตต่อไร่ แต่เน้นการสูญเปล่าให้น้อยที่สุด รวมถึงเน้นคุณภาพและความปลอดภัย ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
พึ่งพาดินฟ้าอากาศให้น้อยลง เข้าใจธรรมชาติให้มากขึ้น ใช้ข้อมูลเป็น รู้ตลาดว่าต้องการผลผลิตตัวใดตอนไหน ภาครัฐก็ต้องให้ข้อมูล แนะนำแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในเรื่องการผลิตและการตลาด ให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีมากเท่าที่จะมากได้
ด้าน วิลเลม สะเคร้าต้า อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นในภาพรวมของโลก ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากไทย โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ ทุกประเทศสินค้าเกษตร อาหารสด เสียหายจากการขนส่งไม่ได้
ฉะนั้นต่อไปต้องอาศัยนวัตกรรมด้านขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารสด ทั้งเรื่องบรรจุภัณฑ์รักษาถนอมคุณภาพ การบริหารจัดการระหว่างการขนส่งจากต้นทางจนถึงซุปเปอร์มาร์เกตหรือตลาด จะมีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงองค์ความรู้บริหารจัดการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง หรือผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้สะดวก
รัฐบาลต้องสนับสนุนเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตต้นน้ำให้เข้าถึงปัจจัยการผลิตและแหล่งเงินทุน โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานตามปกติ ปราศจากมาตรการการกีดกันการส่งออกจากแต่ละประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้แรงงานภาคเกษตรสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานในโรงงาน แปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร
ที่สำคัญปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ทำให้ผู้ผลิตบางส่วนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต หันมาใช้เครื่องจักรกล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติในฟาร์ม เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าตรงตามคุณภาพและเวลาที่ตลาดต้องการ
แต่การเข้าถึงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม จำเป็นต้องมีการลงทุน ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกมากขึ้น.