ปลดล็อกเอทานอลอ้อย เร่งผลักดันภาคอุตสาหกรรมอื่นให้เติบโต
เมื่อปี 66 ครม. ไฟเขียวให้นำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมประเภทอื่นได้ นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุราเพื่อสอดรับหลักการ BCG Model รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเปิดแผนเร่งบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ ติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ดันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ปลดล็อกผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ขายให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม เตรียมดึงแพลตฟอร์มจาก “ไทยคม” เผยจุด Hot Spot ย้อนหลัง 3 ปี เร่งแก้ปัญหา PM 2.5
วันที่ 12 มีนาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เข้าพบ โดยได้หารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย เนื่องจากปัจจุบันมีความไม่สมดุลในการสร้างรายได้ของเกษตรกร โดยกลุ่มเอทานอล ขอให้รัฐส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานช่วงการเปลี่ยนผ่าน และปลดล็อกให้ผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงสามารถจำหน่ายเอทานอลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้
ขณะที่กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล ขอให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม และต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าชีวมวลที่จะหมดอายุในราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีการหารือในการที่จะนำเทคโนโลยีดาวเทียม การตรวจหารความร้อน แหล่งกำเนิดฝุ่นควัน PM2.5 มาใช้ในภาคการเกษตร โดยตนและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง รวมถึงผู้บริหารจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ร่วมหารือกับคณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นำโดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่จะมุ่งไปที่เรื่องของการใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เรียกว่า “Sugarcane Intelligence System” มีข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลแปลงเกษตรไร่อ้อย และสามารถแสดงผลจุดความร้อน (Hot Spot) ดูข้อมูลย้อนหลังได้ 3 ปี
ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผน กำหนดทิศทางเกษตรกรรมของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลได้เป็นอย่างดี ครบวงจร ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเผาไร่อ้อยการเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย
สำหรับมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเรื่องส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลให้ได้รับสิทธิในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลือกการตัดอ้อยสดแทนการเผา และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อย โดยการจำหน่ายให้กับโรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเร็ว ๆ นี้จะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นกฎหมายควบคุมมลพิษจากต้นกำเนิด PM 2.5 เป็นการแก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน
เทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์เมื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบวงจรและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรเป็นหลัก
สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมีมูลค่า 235,000 ล้าน แบ่งเป็น น้ำตาล 199,000 ล้านบาท (อ้อย 131,000 ล้านบาท) กลุ่มโมลาสและเอทานอล 22,000 ล้านบาท กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล 14,000 ล้านบาท ที่มาจากใบอ้อยเพื่อต้องการลดภาวะฝุ่นควัน PM 2.5 และลดการเผาทิ้ง กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาคจากเอทานอล และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งเกรดบริสุทธิ์ เกรดอุตสาหกรรม เภสัชกรรม เกรดเชื้อเพลิง