ฟิลิปปินส์เลื่อนแผนนำเข้าน้ำตาลออกไปจนถึงกลางปี 68
ฟิลิปปินส์เลื่อนการพิจารณานำเข้าน้ำตาลไปหลังการฤดูเก็บเกี่ยวกลางปีพ.ศ. 2568 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปทานภายในประเทศให้ชัดเจน
การพิจารณาดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมระหว่าง ฟรานซิสโก้ พี. ติอู ลอเรล จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์และปาโบล หลุยส์ อัซโคนา ประธานคณะกรรมการองค์กรกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
รัฐมนตรี ติอู ลอเรล กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องนำเข้าน้ำตาลในทันที เนื่องจากอุปทานน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในประเทศยังคงมีเสถียรภาพและเพียงพอต่อความต้องการ “ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ปาโบล หลุยส์ อัซโคนากับผมเห็นพ้องกันว่าการพิจารณานำเข้าน้ำตาลอาจล่าช้าไปจนถึงเดือนพฤษภาคมที่เป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว”
อัซโคนาอธิบายว่า “อุปทานทั้งน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ยังคงที่ และเพิ่งจะเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ดังนั้นรัฐมนตรีลอเรลและผมจึงตกลงที่จะเลื่อนการพิจารณานำเข้าน้ำตาลออกไปจนกว่าจะผ่านพ้นการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤษภาคม”
ถึงแม้น้ำตาลจะมีเพียงพอต่อความต้องการ ทว่าฤดูกาลเก็บเกี่ยวปัจจุบันเริ่มต้นช้า ทำให้ปริมาณอ้อยทั้งหมดเหลือเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีเพาะปลูกที่แล้ว ซึ่งปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงอาจมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
“เกษตรกรต้องเลื่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อให้อ้อยเติบโตเต็มที่และมีปริมาณน้ำตาลมากขึ้น”
ภัยแล้งอันยาวนานจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้การเจริญเติบโตและสรีรวิทยาของอ้อยไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงร้อยละ 16 ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงแม้จะมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ตามข้อมูลขององค์กรกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ (SRA) พื้นที่ปลูกอ้อยในปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 389,461 เฮกตาร์ จาก 388,378 เฮกตาร์
องค์กรกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ประมาณการว่าผลผลิตน้ำตาลในปีนี้จะอยู่ที่ 1.782 ล้านเมตริกตัน ลดลงร้อยละ 7.2 ขณะที่กรมวิชาการเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลดิบของฟิลิปปินส์ในปีเพาะปลูกปัจจุบันจะลดลงร้อยละ 3.6 โดยคาดว่าผลผลิตจะลดลงเหลือ 1.85 ล้านเมตริกตันจาก 1.92 ล้านเมตริกตัน