ภาครัฐเปิดแผนอุตฯ อ้อยน้ำตาลปี 64 ชูเกษตรกรไทยตัดอ้อยสด-ยกระดับรายได้
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เตรียมมาตรการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยให้หันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน พร้อมดันแนวทางและนโยบายต่างๆ ที่จะสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความมั่นคง เผยมีลุ้นรายได้ตันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท คาดประสบความสำเร็จอ้อยสดเข้าโรงงานหีบ 80% ในฤดูกาลผลิตปี 2563/64 เป็นการยกมาตรฐานสิ่งแวดล้อม สังคม สิ่งแวดล้อมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยไปพร้อมกัน
นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า “มีการตั้งเป้าหมายฤดูการผลิตปี 2563/64 นี้จะมีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบตลอดระยะเวลาเปิดหีบอ้อยประมาณ 100 วัน ไม่น้อยกว่า 80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ที่ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณอยู่ที่ 67.04 ล้านตัน น้อยกว่าปี ที่ผ่านมามี 75 ล้านตัน ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ การสนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมฟรี และในกรณีมีนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น”
นายเอกภัทร กล่าวว่า แนวโน้มราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2563/64 เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะมีรายได้รวมตันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทแน่นอน สำหรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในปี 2564 ที่จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความมั่นคง มีรายได้ที่เพียงพอ โดย สอน. ได้เตรียมความพร้อมและแนวทางในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เช่น การนำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการเพิ่มมูลค่า และการแบ่งปันผลประโยชน์ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ยังไม่สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้
“ในปี 2563 มีโรงงานที่ขออนุญาตจำหน่ายน้ำเชื่อมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล 175,462 ตัน สามารถรองรับการผลิตเอทานอลได้ประมาณ 34.9 ล้านลิตร และในปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้น้ำเชื่อมความเข้มข้นต่ำเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลประมาณ 500,000 ตัน คาดว่าจะผลิตเอทานอลได้ประมาณ 100 ล้านลิตร”
นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพในกลุ่มพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และเวชภัณฑ์ชีวภาพ/เครื่องสำอาง และเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลักดันให้มีการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพที่ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2565 จำนวน 70.40 ล้านบาท ก่อสร้างอาคาร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565
สอน.ยังเตรียมความพร้อมและแนวทางในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้แก่ชาวไร่อ้อย โดย 1.การนำใบอ้อยและยอดอ้อยที่เกิดจากนโยบายการตัดอ้อยสดนำส่งให้กับโรงงานเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถจำหน่ายใบอ้อยและยอดอ้อยให้แก่โรงงานได้ในราคาตันละ 800-1,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายใน 1 ไร่ จะมีใบอ้อยที่ขายได้ประมาณ 1 ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบอ้อยเพิ่มขึ้นอีกไร่ละ 500 บาท หากคิดพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกอ้อยได้ 10 ตัน จะทำให้ได้ราคาอ้อยเพิ่มอีกตันละ 50 บาท
จากมาตรการและแนวทางที่กล่าวมา ถือเป็นมิติใหม่ของชาวไร่อ้อยที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน เพราะสามารถลดต้นทุน มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นการความมั่นคงในอาชีพในระยะยาว นอกจากนี้ หากมีการส่งเสริมชาวไร่อ้อยทำเกษตรแปลงใหญ่ รองรับเครื่องจักรกลการเกษตรและการใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว ก็จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถลดต้นทุนการผลิต ตัดอ้อยได้ทันภายในฤดู เก็บเกี่ยวและลดการเผาอ้อยได้อีกทางหนึ่ง