มิตรผลดันงานวิจัย ยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานชีวภาพ
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับอ้อย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานชีวภาพ สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ 3 มิติ BCG Economy ซึ่งประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก อาทิ เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับชาวเกษตรกร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย.
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสถิติการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของ GDP และคาดว่าจะขยับสู่ 1.5% ภายในปี 2564 โดยมีสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20% สะท้อนถึงความตื่นตัวของสองภาคส่วนสำคัญในการพยายามผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งยั่งยืนกว่าการแข่งขันด้วยราคาวัตถุดิบและแรงงานเป็นหลัก
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ในฐานะภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ที่มีศักยภาพสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ทุกส่วน กลุ่มมิตรผลจึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผลขึ้นที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อคิดค้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูงอื่นๆ และได้จัดงาน RDI Open House พร้อมเปิดคลังแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดำเนินการตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ให้พันธมิตร ทั้งหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย และคู่ค้า ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นร่วมกัน
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “ปัจจุบัน การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainability กลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกคนทั่วโลกให้ความใส่ใจมากขึ้น ประเทศไทยเองก็มีการนำประเด็นดังกล่าวมาใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีการวิจัยและนวัตกรรมเป็นตัวแปรสำคัญ ภายใต้แนวคิด ‘สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน’ กลุ่มมิตรผล มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาครัฐในการสร้างสรรค์และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับอ้อย พร้อมต่อยอดไปสู่ธุรกิจชีวภาพ สอดรับกับโมเดลการบูณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ BCG Economy – เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชาวไร่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ”
ปัจจุบัน ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล มีนักวิจัย 70 คน งบประมาณสนับสนุนปีละกว่า 450 ล้านบาท รองรับงานพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย 4 สาขา อาทิ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ ด้านการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำตาล ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ รวมถึงศูนย์ข้อมูลงานวิจัยระดับโลก และกลุ่มมิตรผล จะยังคงเดินหน้าผลักดันการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพที่มีความยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก