รัฐบาลอินโดนีเซียหวังขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำตาลตามรอยน้ำมันปาล์ม
รัฐบาลของประเทศอินโดนีเซียประกาศแผนเปิดตัวบริษัทน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศในปี 2028 หวังครองตลาดน้ำตาลตามรอยการผูกขาดอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในปัจจุบัน
การค้าขายน้ำตาลของอินโดนีเซียอยู่ในสภาวะขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Observatory of Economic Complexity (OEC) แสดงให้เห็นว่า ณ ปี 2020 อินโดนีเซียส่งออกน้ำตาลดิบเป็นมูลค่าเพียง 25.1 ล้านดอลลาร์ สวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่สูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์
น้ำตาลดิบคือสินค้าที่อินโดนีเซียนำเข้าในปริมาณสูงที่สุดเป็นอับดับที่ 14
จากสถานการณ์ราคาของต้นทุนอย่างสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวสูงขึ้นไม่หยุดประกอบกับกระบวนการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ ซ้ำเติมด้วยอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียที่พุ่งขึ้นไปแตะ 5.95% ในเดือนกันยายน ปี 2022 และราคาอาหารโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มสูงถึง 7.91% จึงเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้รัฐบาลของประเทศต้องเร่งจัดทำมาตรการเพื่อลดภาระต้นทุนและสร้างเสถียรภาพด้านอาหารโดยด่วน
เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลของอินโดนีเซียได้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจชื่อ PT Sinergi Gula Nusantara (SGN) ผู้เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล 36 แห่งในประเทศ และวางแผนที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยให้เป็น 700,000 เฮกตาร์ภายในระยะเวลา 6 ปีข้างหน้าซึ่งก็คือภายในปี 2028 ส่งผลให้ SGN กลายเป็นบริษัทน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย
ในประเด็นนี้ Erick Thohir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า “PT SGN เป็นหนึ่งในโครงการเชิงยุทธศาสตร์แห่งชาติของอินโดนีเซียที่จะอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเคียงคู่ไปกับโครงการรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันปาล์มและการบริหารสินทรัพย์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
เราประเมินว่า PT SGN จะครองส่วนแบ่งในตลาดน้ำตาลของประเทศเป็นสัดส่วน 60% ถึง 70% ภายในปี 2028 โดยบริษัทฯ มีศักยภาพในการผลิตน้ำตาลด้วยปริมาณเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ และจะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรของอินโดนีเซีย พื้นที่เพาะปลูกอ้อย 700,000 เฮกตาร์ที่ตั้งเป้าไว้จะไม่ใช่ที่ดินซึ่งผูกขาดกรรมสิทธิ์โดยรัฐบาล แต่จะเป็นการเปิดให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
ด้วยการดำเนินโครงการนี้ เราประเมินว่าจะสามารถผลิตน้ำตาลด้วยปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าได้ภายในปี 2028 และจะสามารถผลิตน้ำตาลด้วยปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งานเชิงอุตสาหกรรมได้ภายในปี 2030”
Thohir ขยายความเพิ่มเติมว่ารัฐบาลอาจมีมาตรการในการสกัดกั้นเงินเฟ้อรวมถึงต้นทุนของสินค้าและบริการที่พุ่งสูงด้วยการส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากอนุพันธ์ของน้ำตาล
จ่อรีดภาษีความหวาน
ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศชัดว่าไม่ได้มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านการกำหนดให้เรียกเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นสารให้ความหวานในแผนงบประมาณประจำปี 2023
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียอย่าง Sri Mulyani ได้กล่าวไว้ในการแถลงข่าวหลังการประกาศนโยบายนี้ว่า
“เครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นสารให้ความหวานมีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยทางกระทรวงฯ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีความหวานที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
การเริ่มจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลจะต้องพิจารณาจากระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปีหน้า โดยทางกระทรวงฯ จะพยายามจัดทำนโยบายที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย”
ในขณะเดียวกัน Yustinus Prastowo เสนาธิการพิเศษฝ่ายกลยุทธ์การสื่อสารประจำกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีความหวานแล้วและได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการนี้ในการควบคุมการบริโภคน้ำตาลของประชาชนเพื่อสุขภาพที่ดี โดย Yustinus ได้อธิบายไว้ในพื้นที่สนทนาบน Twitter Space ว่า
“อุปสรรคในการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นสารให้ความหวานคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียหลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงจะมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างเนื่องจากผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นสารให้ความหวานมีทั้งบริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรมรวมถึงบริษัทรายย่อยอีกเป็นจำนวนมาก
บริษัทขนาดเล็กไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของสํานักงานคณะที่ปรึกษาด้านอาหารและยา (BPOM) และยังมีความละเอียดอ่อนในการกำหนดกระบวนการจัดเก็บภาษีรวมไปถึงการประเมินผลกระทบอีกด้วย”
อินโดนีเซียคือประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก จึงมีผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ณ ปี 2021 ประชากรอินโดนีเซียราว 43% ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท