สระบุรี จุฬาฯ พัฒนา ใบอ้อยอัดเม็ด – อัดก้อน รายแรกของไทย
ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ให้บริการวิชาการและวิจัยการแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้ง มาเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชีวมวลหลากหลาย โดยได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งปัญหาของชีวมวลประเภทหนึ่งเรียกว่า “ชีวมวลเบา” เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ถ้าขนย้ายเพื่อนำไปทำพลังงานทางเลือกจะมีปัญหาค่าขนส่งแพง คนนำไปใช้ไม่คุ้ม โดยเฉพาะ “ใบอ้อย” เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเบาชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาที่ศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี ว่าจะมีแนวทางการแปรรูปอย่างไร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมเกษตรกรไม่ให้เผาอ้อย ซึ่งสุดท้ายได้แนวคิดว่า ชีวมวลเบาทุกชนิดจำเป็นจะต้องทำให้เป็นชีวมวลหนาแน่นก่อน จึงได้มีการทดลองผลิตเป็นเชื้อเพลิงแข็งหนาแน่นประเภท “อัดเม็ด”
หลังจาก ศูนย์วิจัยจุฬาฯศึกษาการนำใบ้อ้อยมาอัดเม็ดสำเร็จ จึงศึกษาวิจัยการ “อัดก้อน” โดยได้รับทุนวิจัยจาก บพข. และ สกว. ศึกษาเรื่องใบอ้อยอัดก้อนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว พบว่าการนำใบอ้อยมาอัดเป็นก้อนทำให้มีความหนาแน่นมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการขนส่ง คือจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ขณะที่ต้นทุนการขนส่งลดลงเกือบ 3 เท่าตัว ที่สำคัญเชื้อเพลิงนี้มีความชื้นต่ำ เก็บรักษาได้นาน การป้อนเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ทำได้ง่าย ไม่เกิดฝุ่นขณะการป้อน อีกทั้งยังสามารถเผาใบอ้อยอัดก้อนให้เป็นถ่านที่เรียกว่า “ไบโอชาร์” ได้ สามารถนำไปใช้เพื่อคิดเป็นคาร์บอนเครดิต นี่คือปลายทางที่จะได้จากการแปรรูปดังกล่าว
ปัจจุบัน บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส จำกัด ได้นำงานวิจัยดังกล่าว ไปแก้ปัญหาการเก็บเกี่ยวอ้อย ที่มีเรื่องการเผาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีรถตัดอ้อย ต้องใช้คนเก็บเกี่ยว จึงจำเป็นต้องเผา บริษัท ทรัพย์ถาวรฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวไร่ มีพื้นที่ปลูกอ้อยหลายพันไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางบริษัทมีรถตัดอ้อยเก็บเกี่ยว จึงไม่ได้มีการเผาอ้อย และยังสามารถนำใบอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวขายให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล อีกส่วนหนึ่งบริษัทก็รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรในเครือข่ายด้วย แต่ปัญหาคือการขนใบอ้อยเป็นฟ่อน ๆ ไม่คุ้มกับต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน ใช้ขนใบอ้อยได้แค่ 17-18 ตันก็เต็มคันรถ ทางบริษัทจึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะแปรรูปใบอ้อยก่อนส่งขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อสะดวกในการขนส่งและใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ด้วย
บริษัทได้รับคำแนะนำจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ไปดูงานวิจัยของศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี และได้พบงานวิจัยการแปรรูปใบอ้อยเป็น “ใบอ้อยอัดเม็ดและอัดก้อน” ถือเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย ที่นำงานวิจัยไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้ แม้การนำใบอ้อยไปผลิตกระแสไฟฟ้าจะมีมานานแล้ว แต่รูปแบบการใช้เป็นการนำใบอ้อยไปป่นก่อนทำเป็นเชื้อเพลิง แต่ของทางบริษัทเป็นรูปแบบการอัดเม็ดหรืออัดก้อน ขนส่งสะดวก เก็บไว้ได้นาน มีความชื้นต่ำและมีความหนาแน่นสูง ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หลายประเภท
ขณะที่เครื่องจักรซึ่งนำมาใช้ในการแปรรูปใบอ้อยเป็นใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน บริษัท ทรัพย์ถาวร ได้พันธมิตรคือ บริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) มาผลิตให้ โดยจุดเริ่มต้นความร่วมมือมาจากการที่ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. มีความชำนาญในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้องการใช้ความชำนาญในอุตสาหกรรมดังกล่าว มาพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ทางปาล์ม ฯลฯ
บริษัท ที.เอ็ม.ซี. ได้ทำการศึกษาว่า มีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่ไหนบ้าง ที่สามารถแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมขั้นสูง และพบว่า ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ทำเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว มีการตั้งศูนย์สระบุรีขึ้นมา เพื่อการวิจัยด้านการเกษตรเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่าง ๆ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. จึงเข้าไปขอใช้บริการทางวิชาการ โดยให้จุฬาฯช่วยถ่ายทอดงานวิจัย เพื่อผลิตเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรแบบต่าง ๆ
พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี ได้แนะนำผู้บริหารบริษัท ที.เอ็ม.ซี. ให้รู้จักกับผู้บริหารบริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส ซึ่งมีความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตโดยคนไทย มีนวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาแปรรูปใบอ้อยเป็นผลิตภัณฑ์ใบอ้อยอัดเม็ด-อัดก้อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองบริษัทมีความร่วมมือกัน โดย บริษัท ที.เอ็ม.ซี.มีความชำนาญในด้านการผลิตเครื่องจักรกล ส่วน บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส มีวัตถุดิบใบอ้อยที่ต้องการแปรรูป
ความร่วมมือของสองบริษัทที่มี ศูนย์วิจัยจุฬาฯ สระบุรี เป็นจุดเชื่อมโยง จึงเปรียบเสมือนการนำร่องแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร แก้ปัญหาการเผา ลดมลพิษ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในอนาคตอาจมีโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศ เพราะใบอ้อยเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ถ้านำมาทำประโยชน์ด้านพลังงานทางเลือกได้ ก็จะช่วยลดการเผา ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ใช่ได้ประโยชน์เฉพาะชาวไร่ แต่ได้ทุกฝ่าย แม้กระทั่งประเทศชาติก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาทุกปี นอกเหนือจากไร่อ้อย ยังสามารถนำไปปรับใช้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างอื่น เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือ ใบไม้ต่าง ๆ ก็สามารถเก็บมาขายให้กับโรงงานแปรรูปได้ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมบีซีจี (BCG Model) ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น