สองบริษัทน้ำตาลไทยยักษ์ใหญ่ หนุนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หนุนอุตฯ อ้อยและน้ำตาลไทยสู่ความยั่งยืน
กลุ่มมิตรผล-เคทิส สองบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการอ้อยและน้ำตาลไทย เข้าร่วมประชุมสมัชชา “BCG (Bio-Circular-Green Economy): โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ลงนามความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) เพื่อรณรงค์ให้ชาวไร่เพาะปลูกอ้อยสู่ความยั่งยืน โดยการตัดอ้อยสด การจัดการแมลงศัตรูพืชโดยชีววิถีรวมไปถึงการสนับสนุนรถตัดอ้อย สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับชาวไร่อ้อย ต่อยอดศักยภาพสินค้าเกษตรจากอ้อยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงสุดด้วยนวัตกรรมต่างๆ
คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท ในฐานะหัวหน้าคณะนวัตกรรมเกษตรอาหารและพลังงาน ได้ร่วมเสวนาในช่วง “สานพลังเพื่อการขับเคลื่อน BCG สู่การปฏิบัติ” ภายใต้หัวข้อ “ต่อยอดสินค้าเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยนวัตกรรม” โดยมี 3 โครงการนำร่องด้วยนวัตกรรมต่อยอดคุณค่าจากอ้อยที่กลุ่มมิตรผลได้ร่วมขับเคลื่อนในครั้งนี้ ได้แก่ 1.โครงการแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ที่จังหวัดชัยภูมิ และสุพรรณบุรี 2.โครงการนวัตกรรมจากยีสต์: สารสกัดจากยีสต์ เบต้า-กลูแคน ที่จังหวัดชัยภูมิ และอำนาจเจริญ 3.โครงการนวัตกรรมอาหารสุขภาพพรีไบโอติกส์ :ฟรุกโตโอลิโกแซกคาไรด์ (FOS) ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยคาดว่าการขับเคลื่อน 3 โครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
กลุ่ม KTIS ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่เข้าร่วมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG โดยนายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจรเปิดเผยว่า “กลุ่มเคทิส เรามีนโยบายในการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับโมเดล BCG เพราะเราต้องสร้างความมั่นคงทางรายได้และอาชีพให้แก่เกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (B) ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร อีกทั้งยังเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (C) โดยกระบวนการผลิตของกลุ่มเคทิสเป็น Zero WasteFactory คือการนำสิ่งเหลือใช้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (G) คือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการรณรงค์ให้ชาวไร่ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมให้ใช้ชีววิถีในการจัดการแมลงศัตรูพืช รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด
เช่น ให้สิทธิในการนำอ้อยสดเข้าหีบก่อน การจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ชาวไร่เพื่อซื้อรถตัดอ้อย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดอ้อยสด และการใช้รถตัดอ้อยของโรงงานเองเข้าไปบริการชาวไร่” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่าโครงการหนึ่งที่ดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพคือโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเตรียล จำกัด (GKBI) บริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ระหว่าง บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% กับบริษัท จีจีซี เคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยโครงการนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19ทำให้การนำเข้าและติดตั้งเครื่องจักรล่าช้ากว่ากำหนดเดิมอย่างไรก็ตาม คาดว่าจะดำเนินการได้ทันฤดูการหีบอ้อยปี 64/65 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564.