อินเดียคว้าโอกาสดี ส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดต่างประเทศ
อินเดีย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลก ไขว่คว้าโอกาสดีโดยเร่งตั้งเป้าการส่งออกน้ำตาล 6 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2563-2564 และโรงงานน้ำตาลในประเทศได้เซ็นสัญญาส่งออกน้ำตาลไปแล้ว 1-1.5 ล้านตัน หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้เงินอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลจำนวน 35,000 ล้านรูปี ไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ การส่งออกยังจะช่วยให้ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกสามารถลดปริมาณการสต๊อกน้ำตาลลง และช่วยพยุงราคาอันเนื่องจากอุปทานส่วนเกินภายในประเทศ ซึ่งสวนทางกับตลาดโลกที่มีปริมาณลดลง
เจ้าหน้าที่ระบุว่า โรงงานน้ำตาลได้ตกลงที่จะทำสัญญาส่งออกน้ำตาลในปริมาณ 1.5 ล้านตันในปีการตลาด พ.ศ. 2563-2564 โดยเริ่มตั้งแต่ ตุลาคม ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังอินโดนีเซีย ศรีลังกา อัฟกานิสถาน และประเทศในแถบแอฟริกา โดยทำการส่งออกในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ผู้ค้าสามรายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในข้อตกลงซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตนตามนโยบายขององค์กร กล่าวว่ามีการเซ็นสัญญามูลค่า 375 ถึง 395 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแบบฟรีออนบอร์ด (free-on-board: FOB)
นายราฮิล เชคส์ กรรมการผู้จัดการของเอ็มอีไออาร์ คอมโมดิตี้ส์ อินเดีย (MEIR Commodities India) กล่าวว่า “สัญญาส่วนใหญ่เป็นสัญญาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบซึ่งกำลังมุ่งเป้าการส่งออกไปที่อินโดนีเซีย” ซึ่งโดยปกติจะนำเข้าน้ำตาลจำนวนมากจากประเทศไทย แต่เริ่มมีการสั่งซื้อน้ำตาลอินเดียในปี พ.ศ. 2563 ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนกฎระเบียบด้านความบริสุทธิ์ของน้ำตาลในการนำเข้าน้ำตาล
ผู้ค้ากล่าวว่า จากสัญญาการส่งออกน้ำตาลจำนวน 1.5 ล้านตันที่ได้ลงนามไปนั้น เกือบ 1 ล้านตันเป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบส่วนที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาว ส่วนศรีลังกา อัฟกานิสถานแ ละประเทศในแถบแอฟริกามีการสั่งซื้อน้ำตาลทรายขาวในปริมาณเล็กน้อย และจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนผิวขาวเท่านั้น เนื่องจากขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (Indian Sugar Mills Association) ในฐานะสมาคมอุตสาหกรรมสำหรับผู้ผลิตแห่งชาติ คาดว่า ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ปีการตลาด พ.ศ. 2563 – 2564 จะมีผลผลิตอยู่ที่ 31 ล้านตัน เมื่อเทียบกับความต้องการในแต่ละปีซึ่งมีประมาณ 26 ล้านตัน ปริมาณน้ำฝนในฤดูมรสุมในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ปี พ.ศ. 2563 สูงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นปีที่สองติดต่อกัน นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำใต้ดินมีน้ำอยู่ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ
ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้อินเดียเกิดภาวะสินค้าล้นสต็อกและทำให้ภาครัฐในเมืองหลวงนิวเดลี ต้องใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกอีกครั้งเพื่อรับมือกับภาวะสินค้าล้นสต็อกนี้ การส่งออกภายใต้มาตรการอุดหนุนการส่งออกของผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสองของโลกอาจส่งผลกระทบต่อราคา SBc1 LSUc1 ทั่วโลก นายปราคาช นาวาร์ กรรมการผู้จัดการสหพันธ์โรงงานน้ำตา แห่งชาติของอินเดีย กล่าวว่า “ยากที่จะประเมินผลผลิตน้ำตาลในฤดูกาลหน้าในตอนนี้ แต่คาดว่าน่าจะสูงกว่าปีนี้”
“อ้อยให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพืชอื่นๆ แต่เรามักจะไม่สามารถปลูกได้เนื่องจากขาดแคลนน้ำ” นายศรีขันธ์ อินกาล เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกในรัฐมหาราษฏระที่ปลูกอ้อยเป็นครั้งแรกในรอบสามปีในพื้นที่สี่เอเคอร์กล่าว
ข้อมูลของรัฐบาลเผยว่ารัฐมหาราษฏระรวมทั้งรัฐกรณาฏกะและอุตตรประเทศมีสัดส่วนน้ำตาลเกือบร้อยละ 80 ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดีย เกษตรกรในรัฐมหาราษฏระซึ่งโดยทั่วไปผลิตน้ำตาลคิดเป็นหนึ่งในสามของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดียปลูกอ้อยบนพื้นที่ 449,911 เฮกตาร์ ในเดือนมกราคมซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 40 จากปีที่แล้ว
ผู้ค้าน้ำตาลในมุมไบที่ทำงานกับบริษัทการค้าระดับโลก กล่าวว่า การส่งออกเป็นสิ่งที่จำเป็นในการหลีกเลี่ยงราคาน้ำตาลภายในประเทศตกต่ำและการส่งออกไม่สามารถทำได้หากไม่ได้รับเงินอุดหนุน ผลผลิตส่วนเกินในฤดูกาลหน้าจะทำให้อินเดียยังคงต้องให้เงินอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลต่อไป