อินเดียตั้งเป้าพลังงานทดแทน 450 กิกะวัตต์เพื่อความยั่งยืนภายในปี 73
อินเดียเตรียมผลิตพลังงานทดแทน 175 กิกะวัตต์จากระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายในปี 2565 และวางแผนผลิตพลังงานทดแทน 450 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 เนื่องจากอินเดียต้องการลดการพึ่งพาถ่านหิน และความต้องการพลังงานภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้องการต่อสู้กับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและรณรงค์เรื่องความยั่งยืน
มีข้อมูลว่าอินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสามของโลก จึงวางแผนที่จะลดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลิตพลังงานสะอาดให้ได้ในสัดส่วนอย่างน้อย 40% ภายในปี 2573 จาก 21.4% ในปัจจุบัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อาร์ เค ซิงห์ ประกาศว่าอินเดียมีศักยภาพสูงเพราะมีความต้องการพลังงานสูง ระดับความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในทุกปี จาก 7 8 และ 9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และเชื่อมั่นว่าอินเดียจะสามารถผลิตพลังงานทดแทน 175 กิกะวัตต์ได้ตามเป้าภายในปี 2565 เขากล่าว ณ ที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี
“เป้าหมายการผลิตพลังงานทดแทน 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2565 นั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ตอนนี้อินเดียมีศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดได้มากถึง 83 กิกะวัตต์แล้ว และอีกประมาณ 29 กิกะวัตต์กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะรวมกันได้ราว 112 กิกะวัตต์ อีก 30 กิกะวัตต์ที่กำลังพยายามให้สำเร็จ ดังนั้น เชื่อมั่นว่าอินเดียจะสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้สำเร็จ (175 กิกะวัตต์ภายในปี 2565) นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงคำประกาศของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดิ เกี่ยวกับการผลิตพลังงานทดแทน 450 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ด้วย
การบริหารงานภายใต้การนำของนเรนทรา โมดินั้น อินเดียได้พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าในย่านชุมชนคนยากไร้ และเมืองหลักๆในประเทศต่างต้องการพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อความยั่งยืนทางพลังงานของอินเดีย เขาได้กล่าวว่า “ตลอด 16 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้จ่ายไฟให้กว่า 26.6 ล้านครัวเรือน และความต้องการพลังงานยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเทียบต่อหัวแล้ว ความต้องการของเรายังน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก”
นอกจากนี้ ปราห์ลาด โจสิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงถ่านหิน กล่าวว่า “ถ่านหินยังคงเป็นที่ต้องการไปอีกประมาณ 20 ถึง 30 ปี ซึ่งรัฐบาลได้วางแผนดึงดูดนักลงทุนระดับโลก และจะได้กำหนดนโยบายของกระทรวงฯ ต่อไป”
ในขณะที่ ปิยุสช์ เวทปรากาส โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรมกล่าวถึงประเด็นเรื่องถ่านหินและบอกว่าอินเดียยังต้องอาศัยถ่านหินเป็นหลักในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน
ดังนั้น อาร์ เค ซิงห์ จึงกล่าวว่าควรจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานน้ำมันและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซจากถ่านหินด้วย.