อินเดียถ่ายทอดเทคโนโลยีสุดล้ำ “เทคโนโลยีการวัดค่าน้ำตาล” แก่หน่วยงานเอกชนในประเทศ
เทคโนโลยีการวัดค่าความหวาน (Brix) ด้วยคลื่นไมโครเวฟ จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยผลิตน้ำเชื่อมจากอ้อยได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เลขาธิการกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (MeitY) ของอินเดียกล่าว
สมาคมวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และวิจัยไมโครเวฟประยุกต์ SAMEER) เป็นสถาบันวิจัยภายใต้กระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดีย ได้ลงนามในข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการวัดค่าความหวานด้วยคลื่นไมโครเวฟกับบริษัท ทอชนิวัล ไฮแวค จำกัด และบริษัท เซอร์ ออโตเมชัน อินดัสตรีส์ เพื่อให้สามารถสร้างเทคโนโลยีนี้และนำไปใช้งานได้ในปริมาณมาก การถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีนายชรี เอส กฤษณะ เลขาธิการกระทรวงฯ เป็นประธานในพิธีที่เมืองมุมไบ
เทคโนโลยีการวัดปริมาณน้ำตาล (SCORE) ที่ล้ำสมัยนี้ได้รับการถ่ายทอดไปยังบริษัทเอกชนทั้งสองรายเพื่อให้สามารถผลิตเครื่องมือได้ในจำนวนมาก เทคโนโลยีการวัดค่าความหวานด้วยคลื่นไมโครเวฟอันล้ำสมัยได้รับการออกแบบและพัฒนาโดย SAMEER จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถวัดค่าความหวานในโรงงานผลิตน้ำตาลในระหว่างการผลิตได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำโดยไม่ต้องสุ่มตัวอย่างด้วยมือแต่อย่างใด
ความคิดริเริ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ด้านการทหาร เกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ และการวิจัย ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเกษตรกรไร่อ้อยและอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่เกี่ยวข้องในอินเดีย
ในการนี้ เลขานุการของกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศได้กล่าวว่า เทคโนโลยีการวัดค่าความหวานด้วยคลื่นไมโครเวฟที่ผลิตขึ้นโดย SAMEER ช่วยให้ชาวไร่อ้อยผลิตน้ำเชื่อมจากอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ได้เน้นย้ำว่างานหลักของกระทรวงฯ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานด้วยทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองในทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเกษตรกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นโดย SAMEER จะช่วยให้การดำเนินสิ่งต่าง ๆ เป็นไปโดยสะดวก ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอน ฯลฯ ขอบคุณเหล่านักวิทยาศาสตร์ของสมาคมฯ ในการสร้างเครื่องวัดค่าความหวานขนาดกะทัดรัดในราคาประหยัดที่ใช้คลื่นไมโครเวฟให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมของอินเดียเป็นหลักจนสำเร็จ เลขานุการฯ ยังเรียกร้องให้สถาบันวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ อย่าง SAMEER เปิดโอกาสให้ใช้เทคโนโลยีนี้ในอุตสาหกรรมดั้งเดิมอีกด้วย
ผู้อำนวยการทั่วไปของ SAMEER ดร. พี. หนุมานธา เรา กล่าวว่า ความสำเร็จนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ SAMEER ในการใช้คลื่นไมโครเวฟในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของอินเดีย เราได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาในโครงการวิจัยคลื่นความถี่วิทยุ (RF) ขั้นสูงและคลื่นไมโครเวฟ ได้รับทุนจากกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดีย พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ “Make in India” ช่วยให้ชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยที่มีค่าความหวานถูกต้องแม่นยำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี “เทคโนโลยีการวัดค่าความหวานด้วยคลื่นไมโครเวฟ” ถือเป็นก้าวสำคัญของโครงการฯ และเป็นความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีล้ำสมัยที่มีศักยภาพปฏิวัติอุตสาหกรรมน้ำตาลไปสู่พันธมิตรในอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
การทดสอบและทดลองใช้เทคโนโลยีการวัดค่าความหวานนี้จัดขึ้นที่โรงงานน้ำตาลชรี สันต์ ตุคาราม ในเมืองปูเน่ และผ่านการรับรองโดยสถาบันวิจัยน้ำตาลวสันต์ดาดา ในเมืองปูเน่ด้วย
บุคคลสำคัญที่เข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ อาร์. ปรากาช จากมหาวิทยาลัยแอนนาในเมืองเจนไน หัวหน้าคณะตรวจสอบและกำกับดูแลโครงการสำหรับเทคโนโลยีนี้ ดร. อาร์. วี. ดานี่ ที่ปรึกษาทางเทคนิคและหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีน้ำตาลของสถาบันวิจัยน้ำตาลวสันต์ดาดา นางสุนิตา แวร์มา ผู้ประสานงานการวิจัยและพัฒนาของกระทรวงกระทรวงฯ ตัวแทนจากบริษัทเอกชนทั้งสองแห่ง และนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ SAMEER
เทคโนโลยีวัดค่าความหวานด้วยคลื่นไมโครเวฟ
เทคโนโลยีการวัดปริมาณน้ำตาลในสายการผลิตสามารถนำไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์นม เบียร์ น้ำผลไม้ ขนมหวาน ในยุคที่ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพ การวัดปริมาณน้ำตาลที่เชื่อถือได้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลนี้จะต้องถูกระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้ถือเป็นโซลูชันที่ตอบสนองความต้องการนี้ได้เป็นอย่างดี