อินโดนีเซียตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตน้ำตาลเป็นสองเท่า ลดการนำเข้าภายใน 5 ปี
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังตั้งเป้าลดปริมาณการนำเข้าน้ำตาลด้วยการกระตุ้นกำลังการผลิตในประเทศท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและผลักดันความต้องการด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมหลัก การตั้งเป้าหมายเพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำตาลในประเทศให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลา5ปีทำให้อินโดนีเซียต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพื่อลดการนำเข้า
Mohammad Abdul Ghaniประธานฝ่ายบริหารของบริษัทเกษตรกรรมที่รัฐบาลร่วมถือหุ้นอย่างPT Perkebunan Nusantara IIIระบุว่าทางบริษัทได้วางแผนที่จะขยายกำลังการเพาะปลูกอ้อยและบูรณะโรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลให้ถึง2ล้านตันได้ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ข่าวขณะที่บริษัทกำลังจะบรรลุข้อตกลงกับผู้ให้เครดิตกู้ยืมเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า45ล้านล้านรูเปียห์ (3.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
อีกหนึ่งมาตรการในการลดการนำเข้าน้ำตาล คือควบคุมการบริโภคน้ำตาลของประชากรอินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกและประเทศมีความมั่งคั่งที่กำลังเจริญเติบโตไปพร้อมกับจำนวนของประชากร รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรคาดว่าความต้องการน้ำตาลของประชากรรายบุคคลจะเพิ่มขึ้นไปถึง 25 กิโลกรัมต่อปีภายในปี พ.ศ.2566 จากข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลของชาวอินโดนีเซียมีการเพิ่มขึ้นถึง 30% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
Ghaniให้สัมภาษณ์ว่าเครือบริษัทของเขามีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายขาวคิดเป็น 40% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ โดยทางสมาคมมุ่งหวังจะลดการนำเข้าน้ำตาลของอินโดนีเซียลงในขณะที่กำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น ทางบริษัทได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐวิสาหกิจด้านป่าไม้อย่างPerum Perhutani และเจ้าของบริษัทด้านเกษตรกรรมขนาดเล็กหลายแห่งเพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยจาก600ล้านตารางเมตรให้เป็น 300,000 เฮกตาร์ภายใน 5 ปี ซึ่งการขยายพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยดังกล่าวจะต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกยางพาราที่มีอยู่เดิมด้วยบางส่วน
ในเดือนนี้บริษัทฯ ได้นำน้ำตาลออกมาขายสู่ตลาดค้าปลีกเพื่อช่วยรัฐบาลพยุงราคาน้ำตาล ซึ่งในปีนี้อินโดนีเซียได้นำเข้าน้ำตาลทรายดิบเป็นปริมาณเกือบ700,000 ตัน และนำเข้าน้ำตาลทรายขาวเป็นปริมาณ 150,000 ตัน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับตลาด โดยบริษัทฯ มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับนักลงทุน และอาจมีการร่วมทุนเพื่อขยายกิจการให้เติบโต นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำหุ้นของบริษัทเสนอขายแก่ประชาชนเป็นครั้งแรกหลังจากที่ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสิ้นแล้ว
กลุ่มบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจด้านการเพาะปลูก14แห่ง และบริษัทด้านเกษตรกรรมอีก 3 แห่ง Ghaniกล่าวว่า ได้ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินของบริษัทให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน เพราะจะมีผลสำคัญต่อแผนการขยายกำลังการผลิตน้ำตาล โดยระบุว่า “เราได้วางแผนการปรับโครงสร้างหนี้ในหลายแนวทาง ทั้งการขยายระยะเวลาสินเชื่อและการลดอัตราดอกเบี้ย”นอกจากนี้ ยังได้มีการปรึกษาเรื่องการให้สินเชื่อร่วมจากธนาคารหลายแห่งในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วก็จะทำให้บริษัทผู้ถือหุ้นมีความพร้อมในทางการเงิน
บริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน4ล้านล้านรูเปียห์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่กิจการในช่วงการแพร่ระบาดของCovid-19 กลุ่มบริษัทดังกล่าวยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มซึ่งได้รับผลกระทบทางธุรกิจโดยตรงเนื่องจากวิกฤติโรดระบาด ส่งผลให้บรรดาร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดต้องเลิกกิจการหรือปิดดำเนินการชั่วคราว
Agus Gumiwang Kartasasmita รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ได้ให้สัมภาษณ์ว่าทางกระทรวงฯ ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาโรงงานผลิตน้ำตาลขึ้นภายในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ การตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลขึ้นภายในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจำเป็นจะต้องมีนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ
โดยใจความตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์คือ“เรากำลังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโรงงานรูปแบบใหม่ที่สร้างขึ้นควบคู่ไปกับพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพื่อเป็นการเสริมศักยภาพของกันและกันให้ถึงจุดสูงสุด”นี่เป็นถ้อยแถลงหลังจากที่นายคาร์ตาซัสมิตาเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตน้ำตาลPT Prima Alam Gemilang (PAG)ในหมู่บ้านวาตู-วาตู อำเภอบอมบานาที่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุลาเวสี
นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียยังได้ประกาศใช้กฎกระทรวง (ฉบับที่ 10/2017)เพื่อส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล การบังคับให้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลภายในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจะส่งผลให้ทางโรงงานเป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเองหรือร่วมเป็นเจ้าของกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย
โรงงานผลิตน้ำตาลในบอมบานามีกำลังการหีบอ้อยอยู่ที่12,000ตันต่อวันบวกกับพื้นที่เพาะปลูก 22,797 เฮกตาร์ จึงถือเป็นโรงงานผลิตน้ำตาลของนักธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยทางรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “เราขอชื่นชมทางโรงงานที่ได้ร่วมมือกับประชากรในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ”
กระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียระบุว่ากำลังการผลิตน้ำตาลในปัจจุบันของประเทศอยู่ที่2.2 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 5.8ล้านตัน ทางรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นไว้ว่า “น้ำตาลคือสินค้าจำเป็นของประชากรในประเทศเพื่อการบริโภค และเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นความต้องการบริโภคน้ำตาลจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปตามจำนวนประชากรและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวขึ้น”