‘เครื่องตัดอ้อยสดพ่วงแทรคเตอร์’ นวัตกรรมใหม่ลดอ้อยไฟไหม้ เพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย
"อ้อยไฟไหม้" ยังเป็นปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรไทยยังเผชิญมาจนถึงปัจจุปัน
ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเผาพื้นที่สีเขียวทางการเกษตร การขาดแรงงาน และด้วยช่วงเวลาที่โรงงานเปิดหีบอ้อยมีช่วงเวลาที่สั้นเพียง 4 เดือน (ธันวาคมถึงช่วงมีนาคม) ทำให้ชาวไร่อ้อยใช้วิธีที่สะดวกที่สุดคือเผาก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา PM 2.5 ในขณะนี้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ‘เครื่องตัดอ้อยสดพ่วงแทรคเตอร์’ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ล่าสุดจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยเพื่อลดอ้อยไฟไหม้โดยตรง
ในงานวันนักประดิษฐ์ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ที่ผ่านมา มีการเปิดตัว ‘เครื่องตัดอ้อยสดพ่วงแทรคเตอร์’ หรือ “พาลี ซีโร่พีเอ็ม1” เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการออกแบบโดย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เดไปวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเป็นหนึ่งในกรรมการสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย (TSME) อีกด้วย ซึ่งตัวนวัตกรรมใช้เวลาในการคิดค้นออกแบบร่วมหนึ่งปี และได้มีการตอบรับที่ดีเป็นอย่างสูงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่อนวัตกรรมชิ้นนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายผลสู่การผลิตจริงต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
ผศ.ณัฐวุฒิ เดไปวา ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า “การตัดอ้อยส่วนใหญ่มักจะใช้แรงงานคนมากถึง 60% และปัญหาที่พบคือ แรงงานจะใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนตัดเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้น้ำตาลในอ้อยลดลง ซึ่งบางพื้นที่ยังขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยอีกด้วย อีกทั้งทางรัฐบาลได้ออกมาตรการในการเข้มงวด กวดขัน ตรวจสอบและเฝ้าระวังการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาลมีผลบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาในกระบวนการจัดการผลผลิต”
‘เครื่องตัดอ้อยสดพ่วงแทรคเตอร์’ หรือ “พาลี ซีโร่พีเอ็ม1” เป็นนวัตกรรมเครื่องตัดอ้อยที่สามารถตอบโจทย์การตัดอ้อยได้ครบ 4 ขั้นตอน ตั้งแต่ 1.การสางใบ 2.ตัดโคน 3.ตัดยอด 4.ลำเลียงวางกองด้วยเครื่องเดียว ซึ่งการทำงานตอบโจทย์ได้มากกว่าเครื่องฯทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาด จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การตัดอ้อยได้อย่างแท้จริง สามารถตัดอ้อยได้ถึง 10 ไร่หรือน้ำหนัก 100 ตันต่อวัน การทำงานที่ง่ายขึ้นเพราะใช้แหล่งพลังงานมาจากเพลาPTO ของรถแทรกเตอร์เพียงแหล่งเดียว การติดตั้งง่าย ใช้คนน้อยเพียงคนเดียวในการควบคุมการตัด
โดยสามารถปรับระดับการตัดโคนและการตัดยอดอ้อยตามสภาพพื้นที่ ใบอ้อยที่ถูกสางโดยเครื่องนี้ยังสามารถใช้ปกคลุมตอซังอ้อย รักษาความชุ่มชื้นหน้าดินเพื่อให้ตอซังอ้อยงอกได้ใหม่ในฤดูการเก็บเกี่ยวถัดไป และอ้อยที่เก็บเกี่ยวโดยเครื่องนี้สามารถทำเป็นท่อนพันธ์ได้เนื่องจากตาอ้อยไม่แตกเสียหายด้วย อีกทั้งราคาเครื่องไม่สูง ซึ่งราคาต่ำกว่าเครื่องในท้องตลาดพอสมควร (เทียบกับเครื่องนำเข้าหรือในประเทศเองก็ตาม) ทำให้การเข้าถึงเครื่องเป็นไปได้มากขึ้น
ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ลดแรงงานคน ประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว และที่สำคัญที่สุดคือไม่เผาสร้างมลพิษทางอากาศ PM 2.5 เครื่องนี้จึงตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยทั้งเก่าและใหม่ จำนวน 4,000 คัน จำนวนเงิน 6,000 ล้านบาท โดยธนาคาร ธกส. ปล่อยสินเชื่อระยะเวลาคืนนานถึง 8 ปี ดอกเบี้ยต่ำ เพียง 2% โดยตั้งเป้าหมายให้การเผาอ้อยหรืออ้อยไฟไหม้ต้องหมดไปจากประเทศไทยภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2565
หลังจากเปิดตัว ‘เครื่องตัดอ้อยสดพ่วงแทรคเตอร์’ หรือ “พาลี ซีโร่พีเอ็ม1” มีบริษัทหลายบริษัทสนใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการผลิตเครื่องนี้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการเก็บเกี่ยวอ้อย โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างมิตรผล ที่ทดลองใช้เครื่องนี้ตัดในไร่อ้อยของเครือมิตรผลเองที่จังหวัดชัยภูมิ คาดว่าคงจะมีการเพิ่มจำนวนเครื่องตัดอ้อยสดเครื่องนี้ในเครือมิตรผลเองในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งมีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้ความสนใจหลายรายเพราะราคาไม่แพง สามารถเข้าถึงได้ง่าย
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “จะนำเครื่องนี้ต่อยอดในการขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย โดยร่วมมือกับบริษัทที่จะเป็นตัวแทนผลิตเครื่องนี้เข้าสู่ภาคอุสหกรรม เพื่อใช้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐเป็นเครื่องมือทางนโยบายในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของประเทศ เพื่อขยายผลในวงกว้างต่อไปในอนาคต”
คาดว่าในอนาคต ประเทศไทยจะสามารถลดการเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างแน่นอน หากมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อทำลายใบก่อนเก็บอ้อยนำส่งโรงหีบ ลดต้นทุนด้านแรงงานและประหยัดเวลา ราคาเครื่องจักรที่ไม่สูงเกินไป เกษตรกรเข้าถึงง่าย ดังนั้น ‘เครื่องตัดอ้อยสดพ่วงแทรคเตอร์’ หรือ “พาลี ซีโร่พีเอ็ม1” ก็จะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถให้ประโยชน์ต่อชาวเกษตรกรไร่อ้อยในประเทศไทยได้มากมาย.