เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยฝ่าวิกฤติ Covid-19
“เทคโนโลยีการเกษตรแบบอัจฉริยะกับการช่วยบรรเทาราคาอ้อยและเอทานอลที่ลดลง”
อ้อยถือเป็นพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศบราซิลซึ่งมีปริมาณค่อนข้างสูง (600 ล้านตัน) นอกจากนี้ อ้อยยังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยในบราซิลนั้นมีการใช้เอทานอลคิดเป็น 47.5% ของเชื้อเพลิงรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ
ซึ่งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ฉุดราคาของเอทานอลและน้ำมันปิโตรเลียมทั่วโลกให้ดิ่งลงเหว เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจำนวนมากกำลังเดือดร้อน แต่ก็มีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถสร้างผลกำไรโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรแบบอัจฉริยะเข้ามาช่วย ตัวอย่างเช่น Eduardo Luis Botaro ผู้เป็นเจ้าของไร่ Fazenda Diamante ที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
จีพีเอสและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของที่ดิน 1,400 เฮกตาร์ในเขตเทศบาลเมืองเดสคาลวาโดของรัฐเซาเปาลู โดยที่ดินการเกษตร 800 เฮกตาร์ ได้รับการบริหารจัดการโดย “ระบบอัตโนมัติ” ที่มีการติดตั้งจีพีเอสและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไว้กับรถไถ รถปลูกอ้อย และรถเก็บเกี่ยว
เขาเล่าว่า การปลูกอ้อยในลักษณะเรียงเป็นแถวขนานกันอย่างมีระเบียบก็ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในหลายด้านทั้งการเก็บเกี่ยว การทำความสะอาดไร่ และการใช้ยาปราบศัตรูพืช
ประหยัดต้นทุนได้ 5 ถึง 10%
Eduardo กล่าวว่า การนำจีพีเอสและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมาช่วยในการเว้นระยะห่าง 1,5 เมตรของต้นอ้อยแต่ละแปลงแบบเท่ากันหมดทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกลดลงไป 5 ถึง 10% และเขายังบอกถึงข้อดีอีกหลายเรื่อง เช่น การใช้เครื่องจักรเกษตรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ถอนวัชพืชได้หมดจดโดยไม่ต้องกลัวการงอกใหม่ และยังสามารถพ่นยาฆ่าแมลงได้โดยไม่ทำให้ใบพืชเสียหาย
การลองปรับเปลี่ยนวิธีเล็กน้อยก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ และสร้างความแตกต่างได้มากกว่าที่คิด ตามที่ Eduardo อธิบายไว้ว่า “การเพิ่มความคุ้มค่าทำให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนดี และในบางฤดูนั้นเราสามารถลดต้นทุนของการปลูกและการเก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งยังทำให้เราไม่ต้องใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างไม่น่าเชื่อและสร้างความแตกต่างได้มากกว่าที่คิด”
ทำความรู้จัก REX หรือระบบตรวจสอบการเพาะปลูก
ไร่ Fazenda Diamante หรือเรียกอีกชื่อว่า Diamond Farm ได้ใช้ระบบตรวจสอบการเพาะปลูกที่ชื่อ “Rex” ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลจากรถเก็บเกี่ยวผ่านตัวชี้วัดหลายด้าน เช่น อุณหภูมิ ความเร็ว รอบเครื่องยนต์ต่อนาที เส้นทางและอื่นๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังสมาร์ทโฟนของ Eduardo ในทันที ทำให้เขาสามารถมองเห็นการทำงานทั้งหมดได้ นอกจากนี้ในไร่ยังมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่ราว 90% ของไร่ด้วย
เขากล่าวว่า “นี่เป็นระบบที่สำคัญมากเพราะทำให้ผมมองเห็นและควบคุมการทำงานทั้งหมดได้ ระบบนี้มีผลอย่างมากต่อคุณภาพของไร่เรา แล้วก็ทำให้เราป้องกันเครื่องจักรเสียหายได้ด้วยการซ่อมบำรุงตามข้อมูลที่ได้รับ”
ความเร็วของรถเก็บเกี่ยวอ้อยคือสิ่งสำคัญ
Eduardo ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเร็วของรถเก็บเกี่ยวอ้อย เพราะอ้อยนั้นเป็นพืชมีหน่อ ถ้ารถเก็บเกี่ยวอ้อยใช้ความเร็วมากเกินไปก็จะทำให้หน่อเสียหายและต้นอ้อยจะมีอายุสั้นลง ต้นอ้อยในบางบริเวณสามารถให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ต่อเนื่องถึงห้าฤดูกาล จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงการทำให้พืชเสียหายในทุกกรณี ตามที่เขาเล่าไว้ว่า “ในบริเวณที่มีต้นอ้อยเพิ่งปลูกใหม่จะต้องใช้ความเร็ว 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในการเก็บเกี่ยวอ้อยให้ได้ 150 ตันต่อพื้นที่เฮกตาร์ ส่วนในบริเวณที่ต้นอ้อยมีอายุมากแล้วจะสามารถเพิ่มความเร็วเป็น 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งจะทำให้เก็บเกี่ยวอ้อยได้ 80 ตัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบริเวณและอายุของต้นอ้อย ”
ราคาเอทานอลในปัจจุบันลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีรายได้ไม่พอต่อความต้องการ แต่ก็มีบางคนที่ยังสามารถสร้างรายได้ในระดับที่น่าพอใจอย่างเช่น Eduardo นั่นเอง “อ้อยของเราให้น้ำตาลในปริมาณที่สูงขึ้น วัชพืชในไร่ก็ลดน้อยลง ทำให้เราอ้อยของเราขายได้ราคาดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้มากตามที่ตั้งเป้าไว้ในช่วงต้นปี แต่ก็ไม่ต่ำกว่าราคาที่ยอมรับได้ พอลดต้นทุนได้ก็ทำให้มีรายได้เหลือเพิ่มมากขึ้น”
การนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนมาใช้งาน
การนำเทคโนโลยีการเกษตรแบบอัจฉริยะมาใช้ทำให้ธุรกิจมีภูมิต้านทานต่อความผันผวนของตลาด และทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ราคาดีขึ้นเพราะคุณภาพที่สูงขึ้น จึงทำให้ Eduardo มีความคิดที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยีต่อไปเรื่อยๆ โดยแผนต่อไปคือการนำโดรนมาใช้สำหรับตรวจดูพืชและพ่นละอองน้ำ เพื่อเป็นการยกระดับให้ก้าวทันต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว