เปิดตัว ‘ศรีสำโรง 1’ อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ ถูกใจชาวเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ “ศรีสำโรง 1” ให้ผลผลิตสูง กลิ่นหอม รสชาติอร่อย สีน้ำอ้อยเหลืองอมเขียวสวย ลำต้นนิ่ม ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 มีความหวานหรือค่าซีซีเอสมากกว่า 12 และเป็นพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพการปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง และทนทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำอีกด้วย
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภาคเหนือตอนล่างเป็นแหล่งปลูกอ้อยคั้นน้ำและอ้อยโรงงานที่สำคัญของประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 11 ตันต่อไร่ ในประเทศไทยนิยมปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็นพันธุ์อ้อยรับรองของกรมวิชาการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลูกอ้อยดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคเหนือตอนล่าง
ต่อมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย กรมวิชาการเกษตร จึงนำพันธุ์อ้อยซึ่งผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี นำมาคัดเลือกและประเมินผลผลิตที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 หรือให้ผลผลิตอ้อยโรงงานสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูก มีความหวานหรือค่าซีซีเอสมากกว่า 12 และเป็นพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพการปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง จนได้อ้อยพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร มีชื่อพันธุ์ว่า “อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1”
อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1 มีลักษณะเด่น คือให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 5,647 ลิตรต่อไร่ เปอร์เซ็นต์หีบ 38.1% มีความหวาน 19.1 องศาบริกซ์ น้ำอ้อยคั้นมีสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภค พบว่าสิ่งที่ชอบมาก ได้แก่ กลิ่นหอม รองลงมาคือ สี รสชาติ และความหวาน ส่วนผลการประเมินความพึงพอใจเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายอ้อยในจังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก พบว่าเกษตรกรทุกรายชอบและให้การยอมรับอ้อยพันธุ์ศรีสำโรง 1 โดยเฉพาะจำนวนผลผลิต กลิ่น รสชาติ เปอร์เซ็นต์หีบ และขนาดลำ
อ้อยพันธุ์ใหม่ศรีสำโรง 1 เป็นทางเลือกให้เกษตรกรใช้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ที่มีลำต้นค่อนข้างนิ่ม สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งจากการคั้นน้ำ การเคี้ยว หรือส่งเป็นอ้อยโรงงาน เพราะมีเปอร์เซ็นต์หีบสูง น้ำอ้อยมีสีสวย และมีกลิ่นหอม และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยด้วย โดยหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร จะขยายอ้อยโคลน คั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1 ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งสามารถปลูกขยายต่อในพื้นที่ได้ถึง 50 ไร่
นางสาววีรวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชไร่ขอนแก่น เปิดเผยว่า อ้อยพันธุ์ ศรีสำโรง 1 เป็นผลพวงมาจากการปรับปรุงพันธุ์เมื่อปี 2539 เพื่อหาพันธุ์อ้อยโรงงานที่ทนทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ ด้วยการนำอ้อยพันธุ์ KWT7 มาผสมกับพันธุ์ RT96-018 จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ปลูกที่ อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และในที่สุดการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่ใช้เวลามานาน 19 ปี ก็ได้อ้อยคั้นน้ำที่ทนทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ
ซึ่งอ้อยพันธุ์ใหม่นี้ สามารถให้ผลผลิตได้ไร่ละ 18.47 ตัน ได้น้ำคั้นไร่ละ 5,647 ลิตร มากกว่าอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งให้น้ำคั้นแค่ไร่ละ 4,856.42 ลิตร โดยทีมวิจัยได้ใช้ชื่ออ้อยสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “อ้อยคั้นน้ำศรีสำโรง 1” เพราะได้มาจากการปรับปรุงพันธุ์ที่สถานีวิจัย อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย.