เวียดนามปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ
อุตสาหกรรมน้ำตาลของเวียดนามมีโอกาสที่จะพัฒนามากขึ้นหากสามารถจัดระบบองค์กรใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจะมีรายงานว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลและอ้อยกำลังประสบปัญหาอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการยกเลิกโควต้าภาษีนำเข้าน้ำตาลภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) เมื่อมกราคมปีนี้
นายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) สนับสนุนให้ธุรกิจภายในประเทศมีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมกับนานาประเทศในภูมิภาค โดยกล่าวในที่ประชุมไว้ว่า “อุตสาหกรรมน้ำตาลจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้มีความสามารถในการผลิตที่สูงขึ้นท่ามกลางการรวมกลุ่มกันในระดับโลก” นอกจากนี้เขายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า โรงงานที่มีเทคโนโลยีที่ล้าสมัยและความสามารถในการผลิตต่ำจะถูกแทนที่ด้วยโรงงานที่ทันสมัยกว่า
กระทรวงระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อมกราคมของปีนี้ เวียดนามได้ยกเลิกโควตาภาษีนำเข้าน้ำตาลภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) รวมทั้งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้เงินอุดหนุนราคาสินค้านี้ ดังนั้นการนำเข้าน้ำตาลจึงมีราคาที่ถูกมาก ในขณะเดียวกันธุรกิจเวียดนามแทบจะไม่มีตลาดส่งออกน้ำตาลเลยเนื่องจากนโยบายคุ้มครองการค้าของประเทศอื่นๆ
ประเทศได้ยกเลิกภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายร้อยละ 5 ตั้งแต่มกราคม ปี พ.ศ. 2561 ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน แต่ตัวแทนของสมาคมอ้อยและน้ำตาลเวียดนาม (Vietnam Sugarcane and Sugar Association: VSSA) ได้เจรจากับประเทศสมาชิกประเทศอื่นๆ เพื่อชะลอการใช้มาตรการดังกล่าวจนถึงวันที่ 1 มกราคมปีนี้ แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางสมาคมได้พยายามขอชะลอเวลาในการใช้มาตรการดังกล่าวอีกครั้งเพื่อให้เวลาแก่บริษัทของเวียดนามในพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และระบุว่าต้นทุนการผลิตต่อตันของน้ำตาลในเวียดนามนั้นสูงกว่าในประเทศไทยถึง 200,000 ดองเวียดนาม (8.6 เหรียญสหรัฐ)
กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทระบุว่า เวียดนามมีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยประมาณ 35,000 ราย แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการผลิตส่วนใหญ่ภายในประเทศกลับลดลงอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นและราคาน้ำตาลในภูมิภาคที่ลดลง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลจำเป็นต้องตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้เพื่อให้การผลิตสอดคล้องกับตลาด โดยเชื่อว่าการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงสามารถก้าวหน้าได้อีกหากว่าสามารถปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพได้ ในปีนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลของโลกอาจหดตัวลงในขณะที่ความต้องการและราคาน้ำตาลอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลของเวียดนามที่จะปรับโครงสร้างตนเอง
เขาแนะให้นักธุรกิจภายในประเทศแสวงหาโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ไม้อัด เอทานอล และปุ๋ย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น ผู้นำรัฐบาลเน้นย้ำว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลต้องพร้อมที่จะแข่งขัน ขอให้ภาคธุรกิจปรับโครงสร้างและยอมรับการถูกลบชื่อออกจากแวดวงธุรกิจหากทำผลงานได้ไม่ดี รัฐจะมีมาตรการสนับสนุนแต่จะไม่ให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล เพราะภาคอุตสาหกรรมต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมท่ามกลางการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ
ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า เขาเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาคมอ้อยและน้ำตาลเวียดนาม (Viet Nam Sugarcane and Sugar Association) ในการมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินมาตรการเยียวยาทางการค้ากับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ดำเนินการตามกฎสากลเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดของผลิตภัณฑ์น้ำตาล แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการต่อต้านการลักลอบค้าน้ำตาลด้วย
ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงพยายามสนับสนุนผู้ผลิตน้ำตาลรวมถึงอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศด้วยมาตรการที่สามารถทำได้เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางราคาน้ำตาลในภูมิภาคที่ลดลงและปัญหาการลดภาษีนำเข้าน้ำตาลจากอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปีนี้