ไทยเคาะเพิ่มราคาอ้อย พร้อมสั่งให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เพราะมีจุดแข็งในการใช้วัตถุดิบในภายในประเทศมาแปรรูปเป็นน้ำตาลเพื่อตอบสนองความต้องการ รวมถึงยังมีผลผลิตส่วนเกินที่สามารถส่งออกทำรายได้ให้กับโรงงานน้ำตาลและเหล่าเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย นอกจากนี้ การที่อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียที่เต็มไปด้วยประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ส่งผลทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งไปยังตลาดในภูมิภาค เป็นปัจจัยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเติบโตขึ้นมาตามลำดับ
อุตฯ นี้เติบโตและมีศักยภาพมาได้เพราะเป็นเพียงสินค้าเกษตรตัวเดียวที่มีกฎหมายอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ ซึ่ง พ.ร.บ.ฯ นี้ก็มีการปรับปรุงกันมาบ้างแต่ที่ทำให้ระบบต้องปั่นป่วนหนักคงหนีไม่พ้นการที่บราซิลยื่นขอหารือกับไทย (Consultation) ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2559 ในประเด็นไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลกรองจากบราซิล ใช้นโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ในลักษณะที่อาจขัดกับข้อตกลง WTO และแสดงความกังวลต่อการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ปี 2527 การกำหนดระบบโควตาน้ำตาลของไทย ที่มีทั้งกำหนดปริมาณและราคา ตลอดจนโครงการช่วยเหลือชาวไร่ ด้วยการกำหนดราคารับซื้ออ้อย และการใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลจูงใจให้ชาวไร่หันมาปลูกอ้อยมากขึ้น
ไทยส่งทีมไปเจรจาหลายหน มีการตั้งงบประมาณมาเพื่อการนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ แน่นอนว่าตัวแทนหลัก ๆ หนีไม่พ้นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานและชาวไร่อ้อยแต่ดูเหมือนว่าเสียงจากส่วนใหญ่โดยเฉพาะจากรัฐเน้นไปที่การแก้ไขทุกอย่างให้ตอบโจทย์บราซิล เพียงเพราะกังวลว่าหากแพ้บราซิลในการฟ้องร้อง WTO จะต้องจ่ายเงินชดเชยมหาศาล และเหตุผลนี้เองนำมาสู่การออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ
ลอยตัว-ถอดน้ำตาลออกจากสินค้าควบคุม
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศ “ลอยตัวราคาน้ำตาล” ของไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้ไทยยกเลิกระบบโควตา และการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศ ส่วนวิธีการคำนวณราคาอ้อยให้ชาวไร่นั้น ได้อาศัยกลไกอิงราคาน้ำตาลโลก หรือลอนดอน No.5 บวกพรีเมียม และต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้ถอดสินค้าน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม จากเดิมกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้จำหน่ายปลีกได้ในราคาไม่เกิน 23.50 บาท/กิโลกรัม (กก.)
หลังรัฐลอยตัวราคาน้ำตาลเป็นช่วงจังหวะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับลดลงมาราว 2-3 บาท/กก. และทำให้ราคาหน้าโรงงานยืนระยะราคาเดิมอยู่ที่ 17.25 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 18.25 บาท/กก.อยู่พักใหญ่ก่อนที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะทยอยปรับขึ้นและโรงงานได้ปรับขึ้นน้ำตาลอีกครั้งประมาณ 1.75 บาท/กก.ก่อนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะออกประกาศเพื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตปี 2565/66 เมื่อ 20 ม.ค. 66 ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานน้ำตาลทรายขาว เป็น 19 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็น 20 บาท/กก. นับเป็นการกลับไปยืนราคาเดิมก่อนลอยตัว
ดึงน้ำตาลกลับมาเป็นสินค้าควบคุมอีกครั้ง
ราคาน้ำตาลเริ่มขยับอีกครั้งหลังราคาตลาดโลกพุ่งสูงคิดกลับเป็นเงินไทยราว 26-27 บาท/กก. ทำให้ สอน.ต้องออกประกาศ เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/67 โดยขึ้นราคาหน้าโรงงาน 4 บาท/กก. เพื่อให้ประโยชน์นั้นตกถึงชาวไร่อ้อย ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานขยับเป็น 23 และ 24 บาท/กก. มีผลวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้พาณิชย์เต้นและวิจารณ์ว่าเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคและจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ
คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน จึงประชุมด่วนวันที่ 30 ตุลาคม 66 มีมติกำหนดให้สินค้าน้ำตาลทรายกลับมาเป็น “สินค้าควบคุม” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และกำหนดให้คงราคาน้ำตาลหน้าโรงงานดังเดิมและ ครม.เมื่อ 31 ต.ค. 66 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จากนั้น สอน.จึงต้องออกประกาศกลับไปใช้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานดังเดิม ซึ่งทำให้นักวิชาการออกมาติงว่านี่เป็นการดำเนินนโยบายแบบถอยหลังเข้าคลอง
เจรจาต่อรองขึ้นราคาน้ำตาลเป็น 2 บาท/กก.
ก่อนหน้านี้มีการปรับราคาน้ำตาลเป็น 4 บาท/กก. โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก 2 บาท/กก. ประมาณ 5,000 ล้านบาท จะใช้คำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลผลิตใหม่ 2566/67 ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 (ชาวไร่) : 30 (โรงงาน) ส่วนสอง อีก 2 บาทต่อกก. จะนำมาให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กระนั้นท่าทีของกระทรวงพาณิชย์หลังมีการหารือกับชาวไร่อ้อยผ่านคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเริ่มมีการเช็กต้นทุนและรับทราบปัญหาต่าง ๆ ของชาวไร่ ดูเหมือนว่าทางฝ่ายการเมืองเริ่มรับรู้ปัญหามากขึ้นและเริ่มมีการต่อรองถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ขึ้นราคา 2 บาท/กก.เท่านั้น เพื่อให้สะท้อนข้อเท็จจริงและให้รายได้กลับมาสู่ระบบแบ่งปันที่ชาวไร่อ้อยควรจะได้รับ ส่วนเงินที่จะหักเข้ากองทุนอ้อยฯ เป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเพราะมองว่าการตัดอ้อยสดน่าจะเป็นเรื่องที่แยกออกมา
จากรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายทั้งราคาส่งและขายปลีกเป็น 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยให้ปรับราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน ราคาน้ำตาลทรายขาว จากเดิม กิโลกรัมละ 19.00 บาท เป็น กิโลกรัมละ 21.00 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากเดิม กิโลกรัมละ 20.00 บาท เป็น กิโลกรัมละ 22.00 บาท สำหรับราคาจำหน่ายปลีกเห็นควรมีราคากำกับดูแลที่เหมาะสม
และทางครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 8 พันล้านบาทเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรตัดอ้อยสดมีคุณภาพและลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีของ WTO ในข้อกำหนดการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้า ทางด้านชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนในการตัดอ้อยสดตันละ 120 บาทในปีการผลิต 2565/66 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสอน. ซึ่งมีราว ๆ 140,000 ราย โดยจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือในเดือนมกราคม 67 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาน้ำตาลกลายเป็นสินค้าควบคุมแต่ข้อเท็จจริงลองไปสำรวจราคาต่างจังหวัดที่ไม่ใช่โมเดิร์นเทรด ราคาก็เกินควบคุมอยู่ดี เพราะนี่คือกลไกตลาดที่ยากจะคุมไปแล้วเมื่อราคาเพื่อนบ้านสูงกว่าพ่อค้าคนกลางก็ย่อมฉวยโอกาส อันนี้คือข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ และหากการควบคุมนี้ ท่ามกลางกองทุนอ้อยยังคงไม่มีเงินสะสมไว้ดูแลสิ่งที่จะหวนกลับมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่อราคาอ้อยตกต่ำเราก็คงจะได้เห็นม็อบชาวไร่อ้อยมาเรียกร้องจากรัฐบาลในการช่วยเหลือให้คุ้มกับต้นทุนการผลิต
แม้อ้อยจะมีกฎหมายที่ดีในการกำกับดูแล แต่ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็ยังคงยากจนไม่ต่างจากพืชเกษตรตัวอื่น ๆ ที่ยังคงต้องเรียกร้องหาเงินงบประมาณในการสนับสนุนอยู่เรื่อยไป ท้ายสุดกลายเป็นการนำภาษีประชาชนมาจ่ายที่อาจไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่ไม่ได้บริโภคน้ำตาล และขณะนี้ความจริงแล้วการบริโภคน้ำตาลของประชาชนส่วนใหญ่ลดลง เพราะมุ่งเน้นดูแลสุขภาพมากขึ้น แถมรัฐยังห่วงผู้บริโภคถึงขั้นเก็บภาษีความหวานกันจนทำให้สารทดแทนความหวานเติบโตไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา