เอทานอล

นักวิชาการไทยยืนยัน ‘ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม’ ลดต้นทุนอุตฯ เอทานอลไทย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ยืนยันผลวิจัย ใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมสำหรับหมักวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง กากน้ำตาล สามารถเพิ่มกำลังการผลิต ลดต้นทุน ดันศักยภาพและความสามารถในการนำจุลินทรีย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (BCG) ขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจก้าวไกลต่อไปในอนาคต พร้อมดันภาครัฐสนับสนุนมาตรการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสำคัญ

จากการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดสัมมนาเผยผลการศึกษา “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมในอุตสาหกรรมเอทานอล” ผลวิจัยชี้ว่า ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล ลดต้นทุนการผลิตเอทานอลในส่วนของการใช้เอนไซม์ลงได้ประมาณ 25% หรือลดต้นทุนได้ 1.18 บาทต่อการผลิตเอทานอล 1 ลิตร ทั้งนี้ ผ่านการทดสอบการประเมินผลด้านปลอดภัยทางชีวภาพแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ แต่หากนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล จำเป็นต้องเร่งออกมาตราการควบคุมและกำกับการใช้งานเชื้อจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม โดยยึดถือมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสำคัญ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.
ดร.พงศธร ประภักรางกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว.

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว. ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเวลากว่า 5 ปี ให้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอล ทั้งในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและกระบวนการผลิต โดยทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับกึ่งอุตสาหกรรมภายใต้โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลังสด/มันเส้น (2559) และ โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (2561) รวมถึงล่าสุดโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมในอุตสาหกรรมเอทานอล

จากการศึกษาวิจัย วว. สามารถคัดเลือกยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม คือ สายพันธุ์ MD1 สำหรับวัตถุดิบมันสำปะหลัง มีความสามารถในการผลิตเอนไซม์กลูโคอะไมเลส ช่วยในการผลิตเอทานอลที่ความเข้มข้นสูง สามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนของการใช้เอนไซม์ลงได้ ส่วนเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม GY1 สำหรับวัตถุดิบประเภทกากน้ำตาล มีศักยภาพในการผลิตเอทานอลได้ดีกว่าเชื้อยีสต์อุตสาหกรรม เมื่อทำการผลิตเอทานอลที่ใช้ความเข้มข้นตั้งต้นของกากน้ำตาลสูง ส่วนการทดสอบประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของการใช้เชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม และเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุ์กรรมผ่านการทดสอบประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพว่า ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์

ดร.พงศธร ประภักรางกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. กล่าวเกี่ยวกับผลการศึกษาว่าในวัตถุดิบมันสำปะหลัง วว. ทำวิจัยโดยใช้เชื้อยีสต์ MGT 1/1 จากศูนย์จุลินทรีย์ วว. และเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม MD1 มีความสามารถในการผลิตเอนไซม์กลูโคอะไมเลสได้เทียบเคียงกัน แต่ประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอลของเชื้อยีสต์ MD1 จะดีกว่าเชื้อยีสต์ MGT 1/1 ในการผลิตเอทานอลที่ความเข้มข้นสูง และสามารถลดต้นทุนการผลิตเอทานอลในส่วนของการใช้เอนไซม์ลงได้ประมาณ 0.45 บาทต่อการย่อยมันสำปะหลัง 1 กิโลกรัม หรือลดต้นทุนการใช้เอนไซม์ลงได้ 1.18 บาทต่อการผลิตเอทานอล 1 ลิตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งให้ผลลักษณะเดียวกันกับการผลิตเอทานอลด้วยวัตถุดิบประเภทกากน้ำตาล

กล่าวคือ เชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม GY1 มีศักยภาพในการผลิตเอทานอลได้ดีกว่าเชื้อยีสต์อุตสาหกรรม SC-90 เมื่อทำการผลิตเอทานอลที่ใช้ความเข้มข้นตั้งต้นของกากน้ำตาลสูง ส่วนการทดสอบประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของการใช้เชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมและเชื้อยีสต์จากธรรมชาติในการผลิตเอทานอล โดยวิธี reverse mutagenicity (AMEs Test) พบว่าเชื้อยีสต์ที่นำมาทดลองทั้งเชื้อยีสต์จากธรรมชาติ และเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมล้วนแล้วแต่ไม่พบฤทธิ์ก่อการกลายพันธุ์

ทั้งนี้ผลการดำเนินการโครงการฯ สามารถสรุปได้ว่า การผลิตเอทานอลโดยใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูงจากทั้งวัตถุดิบที่เป็นกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล และลดต้นทุนการผลิตเอทานอลได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งออกมาตราการเพื่อควบคุมและกำกับการใช้งานเชื้อจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม โดยยึดถือมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสำคัญ