KBS ตอกย้ำผู้นำธุรกิจน้ำตาลครบวงจร พร้อมเล็งลงทุนโรงงานน้ำตาลใหม่
บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เดินหน้านำเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพและความหลากหลายผลิตภัณฑ์ ผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจน้ำตาลครบวงจร เตรียมจ่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ กำลังการผลิต 12,000 ตันต่อวัน ด้วยเงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1-1.2 ล้านตัน/ปี พร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าด้วยเงินทุน 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิตขนาด 18 เมกะวัตต์ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา คาดการณ์ก่อสร้างเสร็จเดือนธันวาคมปีนี้
นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่า “ในปี 2563บริษัทมีนโยบายมุ่งเสริมศักยภาพกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายให้มีความเข้มแข็งและต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลพอร์ตรายได้เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำผู้นำธุรกิจน้ำตาลครบวงจร”
โดยแผนดำเนินงานธุรกิจน้ำตาล บริษัทจะใช้จุดเด่นความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาล และนำเทคโนโลยีการผลิตมาช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต หลังได้ลงทุนคอนดิชันนิ่ง ไซโลน้ำตาล ช่วยลดการจับตัวเป็นก้อน ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย สอดคล้องกับจังหวะราคาน้ำตาลโลกขยับตัวขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายสีรำ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลทรายขาวผสมซูคราโลส (Sucralose) เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคทั่วไป ทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศในทวีปเอเชีย
ขณะที่ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 35,000 ตันต่อวัน โดยในรอบการผลิตของปี 2561/2562 มีอ้อยเข้าหีบ 3,298,841.44 ตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทุกประเภทรวม 3,726,503.85 กระสอบ คิดเป็นน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยีลด์) อยู่ที่ 112.96 กิโลกรัม และรอบการผลิตปี 62/63 หลังเปิดหีบมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มีอ้อยเข้าหีบแล้ว 1,400,000 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 1,484,000 ล้านกระสอบ คิดเป็นน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 105.96 กิโลกรัมต่อตันอ้อย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนของธุรกิจ โดยสร้างความมั่นคงด้านผลผลิต ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก และการจัดเก็บผลผลิตให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา เพื่อนำส่งอ้อยมีคุณภาพให้แก่โรงงาน ประกอบกับมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์น้ำตาลภายใต้แบรนด์ KBS ให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า และนำผลพลอยได้สร้างความเข้มแข็งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอกย้ำผู้นำธุรกิจน้ำตาลอย่างครบวงจร
นายอิสระกล่าวว่า บริษัทยังมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ กำลังการผลิต 12,000 ตันต่อวัน และขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มเติม ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งดำเนินการโดย KPP หรือ บริษัทผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ที่ KBS ถือหุ้นอยู่ 99.99% สำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ที่ตั้งอยู่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการลงทุนก่อสร้าง กำลังการผลิตไฟฟ้า 18 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีแล้วจำนวน 1 โรง ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 16 เมกะวัตต์
ตอนนี้ปริมาณน้ำตาลตลาดน้ำตาลโลกมีทิศทางลดลง ส่วนผลจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ได้กระทบการส่งออกไปตลาดจีน แต่ในทางตรงกันข้ามเกิดการกักตุน โดยจีนยังคงนำเข้าเช่นเดิมเพื่อเก็บสินค้าไว้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการบริโภคน้ำตาลในประเทศไทยไม่กระทบ เพราะส่วนใหญ่ส่งสินค้าเข้าโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับราคาน้ำตลาดในประเทศนั้นทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายยังกำหนดให้จำหน่ายน้ำตาลทรายขาว กก.ละ 17.25 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 18.25 บาท
“รู้ว่าแล้งหนักมากในรอบ 40 ปี ปีนี้ก็เช่นกันเราต้องพยายามลดต้นทุนลงอีกเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง แม้ปีนี้จะบรรเทาลงเพราะเริ่มมีความชื้นแล้ว แต่เราก็ปรับแผนปลูกอ้อยให้ชาวไร่คู่สัญญา โดยเลื่อนเวลาเพาะปลูกจากเดิมช่วงปลายปีที่ผ่านมา (อ้อยข้ามแล้ง) เป็นเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ (อ้อยต้นฝน) แทน” นายอิสระ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม KBS ยังเน้นที่ธุรกิจน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 78% เพราะเป็นธุรกิจที่บริษัทมีจุดแข็งและเชี่ยวชาญ รวมถึงธุรกิจซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) กากน้ำตาล 11% และชะลอแผนลงทุนโรงงานเอทานอล เนื่องจากยังไม่ใช่ธุรกิจที่ชำนาญ บวกกับปัจจุบันกำลังการผลิตเอทานอลยังเกินความต้องการใช้อยู่มาก ขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีไฮบริดเข้ามา เอทานอลอาจยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะจะลงทุน แต่อย่างไรก็จะทบทวนแผนการลงทุนใหม่เมื่อรัฐส่งเสริมจริงจัง ยิ่งไปกว่านั้น KBS ยังมีแผนจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี จำนวนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อระดมเงินไปลงทุนในโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่