ความท้าทายของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในปี 2020
สหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดเส้นตายของเป้าหมายการลดการใช้งานก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ลงในปี 2563 นี้ ซึ่งมีหลายประเทศที่จะต้องเผชิญหน้ากับเป้าหมายนี้ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลก และเป็นปีที่สมาชิกของสหภาพยุโรป จะต้องบรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 10% อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพทั่วโลกก็ยังเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ ด้วยการใช้นโยบาย นวัตกรรม และกฎระเบียบสำหรับสร้างความแข็งแกร่งเพื่อการเจริญเติบโตต่อไปในอนาคต
ข้อมูลจาก Renewable Fuels Association (RFA) ได้กล่าวไว้ว่า สหรัฐฯ นั้นยังคงเป็นผู้นำในการผลิตเอทานอลของโลกด้วยกำลังการผลิตถึง 16,000 ล้านแกลลอนซึ่งนับเป็น 54% ของโลก แต่ในปี 2562 กำลังการส่งออกลดลงเล็กน้อยลงไปอยู่ที่ 1,500 ล้านแกลลอนซึ่งนับเป็นสถิติต่ำสุดอันดับสองรองจาก 1,700 ล้านแกลลอนในปี 2561 โดยเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกจากสหรัฐนั้นจะถูกส่งไปยังประเทศบราซิลและแคนาดาซึ่งนับเป็นผู้นำเข้าสูงสุดสองรายแรก ขณะที่การส่งออกไปยังแคนาดานั้นยังคงที่ แต่สำหรับบราซิลนั้นกลับลดลงในปี 2562 เนื่องจากกำลังการผลิตเอทานอลที่สูงขึ้น รวมถึงการกำหนดอัตราภาษีและการจำกัดปริมาณในเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์
RFA กล่าวไว้ว่า “การเก็บภาษีแบบต้องห้าม (Prohibitive tariffs) ของจีนนั้นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้าส่งออกลดลงเล็กน้อยเกือบตลอดทั้งปี 2562 ในทางกลับกัน มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty) ของทางสหภาพยุโรปที่ทางสหรัฐฯพยายามจะให้มีการยกเลิกนั้นก็ได้รับอนุญาติให้มีการยุติลง” RFA ยังได้กล่าวว่า ข้อขัดแย้งทางการค้ากับจีนนั้นอาจจะเปิดตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ นอกจากนี้แต่ละพื้นที่ของแคนาดาก็เริ่มมีการใช้ส่วนผสมเอทานอลที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับอินเดีย
ประเทศบราซิลผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับสองของโลกได้ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล แต่ใน 5 ปีหลัง การผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพดได้เพิ่มสูงขึ้นมากและไม่ได้มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด โดยทาง Unem ซึ่งเป็นสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากข้าวโพดของบราซิลได้ประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 86% ในฤดูกาล 2563-2564 ถึง 2,600 ล้านลิตร ถ้ากำลังการผลิตใหม่เริ่มเปิดใช้งานได้ โดยโรงงานใหม่ 3 โรงคาดการณ์ว่าจะเริ่มปฏิบัติการได้ในปีนี้ ข้อมูลจาก Unem ยังได้ระบุไว้อีกว่าโรงงานเอทานอลจากข้าวโพดอีก 7 โรงกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนี้โรงงานเอทานอลจากอ้อยที่ใหญ่ที่สุด 2 โรงกำลังจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพดเสริมเข้าไปอีกด้วย
ทางกรมวิชาการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้กล่าวไว้ว่าถึงแม้ว่า กลุ่มสหภาพยุโรปจะเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่ของโลก แต่ในห้วง 8 ปีที่ผ่านมากำลังการผลิตนั้นกลับค่อนข้างผันผวนโดยตลาดไบโอดีเซลนับเป็น 75% ของตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพด้านคมนาคมสำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้ ซึ่งการบริโภคส่วนใหญ่นั้นถูกขับเคลื่อนโดยเอกสาร (mandates) และสิทธิทางภาษี (tax incentives) จากข้อมูลจะพบว่าสหภาพยุโรปมีโรงงานไบโอดีเซลทั้งหมด 188 โรงที่กำลังการผลิตทั้งหมด 21,230 ล้านลิตรแต่กลับถูกใช้งานเพียงแค่ 53% เท่านั้นในปี 2562 และในพื้นที่ก็ยังมีโรงกลั่นน้ำมันดีเซลทดแทนอีก 14 โรงที่กำลังการผลิต 5,000 ล้านลิตรต่อปีแต่ก็ถูกใช้งานเพียงแค่ 60% เท่านั้น
แม้ว่าหลายประเทศเริ่มมีการใช้งานน้ำมัน E10 เพื่อกระตุ้นเรื่องพลังงานทดแทนเช่น เดนมาร์ก ฮังการี ลิธัวเนีย และสโลวาเกีย แต่จากหลาย ๆ งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า E20 หรือส่วนผสมที่ 20% กลับกลายเป็นคำตอบของการใช้งานเอทานอลซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าในปี 2573 จะมีความต้องการเอทานอลปริมาณมาแค่ไหนจากการใช้น้ำมันหลายรูปแบบ ในกรณีที่มีความต้องการน้ำมันต่ำตลาดจะต้องการเพิ่ม 3,200 ล้านลิตรถ้าเทียบกับปี 2560 แต่ถ้าความต้องการสูงจะเพิ่มขึ้นถึง 11,500 ล้านลิตร
ทาง ePURE ซึ่งเป็นกลุ่มพลังงานทดแทนเอทานอลของยุโรป (European Renewable Ethanol Group) ได้แถลงว่าปี 2563 นี้ เป็นปีที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะครบกำหนดเส้นตายในหลายๆเป้าหมายซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องบรรลุเป้าหมาย 10% ของการใช้พลังงานทดแทนในด้านคมนาคมตามข้อกำหนดของ Renewable Energy Directive ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าแต่ละประเทศจะมีการใช้งานเชื้อเพลิงชีวภาพจากข้าวโพดปริมาณเท่าใดใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเพียงแค่สองประเทศเท่านั้นที่บรรลุเป้าหมายคือ ฟินแลนด์และสวีเดน ในขณะที่ออสเตรียและฝรั่งเศสใกล้จะบรรลุเป้าหมายแล้ว.