คาดการณ์แนวโน้มน้ำตาลในตลาดโลก ช่วงปี 2563-2564
น้ำตาลเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการผลิต บริโภค และจัดจำหน่ายกันทั่วโลก เพราะไม่ได้เป็นสินค้าที่ใช้ภายในระดับครัวเรือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภทอีกด้วย อนาคตของตลาดน้ำตาลมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกคือประเทศบราซิล อินเดีย และไทย นักวิเคราะห์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่าตลาดน้ำตาลในฤดูกาลนี้จะอยู่ในสภาวะล้นหรือขาดตลาด โดยสาเหตุของความเห็นต่างนั้นอยู่ที่ปัจจัยอย่างการระบาดของโควิด-19 ว่าจะส่งผลให้การบริโภคลดน้อยลงหรือจะเป็นการผลักดันให้ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดอย่างบราซิลสามารถกอบโกยผลกำไรจากการผลิตน้ำตาลเมื่อราคาเอทานอลลดต่ำลง
ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปี 2019 ถึง 2020 นั้น ปริมาณของการผลิตน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 166.2 ล้านเมตริกตัน เป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ลดปริมาณการผลิตลงจากปัญหาด้านสภาพอากาศและการผลิตเอทานอลออกมาในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการผลิตน้ำตาลของบราซิลช่วงปี 2562-2563 นั้นถูกจำกัดไว้ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล เพราะเอทานอลสามารถจำหน่ายได้กำไรดีกว่า ฤดูกาลเพาะปลูกในพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ของบราซิลช่วงปี 2562-2563 สิ้นสุดลงด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยคั้นจำนวน 589 ล้านเมตริกตัน โดยที่น้ำอ้อย 35% จากจำนวนนี้ถูกนำไปผลิตเป็นน้ำตาล ส่วนที่เหลืออีก 65% ถูกนำไปผลิตเป็นเอทานอล พืชที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลและเอทานอลให้ผลผลิตเป็นเอทานอลราว 33,000 ล้านลิตรในช่วงปี 2562-2563 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ปัญหาสภาพอากาศและพื้นที่เพาะปลูกที่ลดน้อยลงเป็นสาเหตุให้ผลผลิตจากผู้ผลิตรายใหญ่มีปริมาณลดน้อยลง ภัยแล้งและภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรงทำให้ผลผลิตจากประเทศอินเดีย สหภาพยุโรป และไทยลดลง ตัวเลขผลผลิตโดยประมาณอยู่ที่ 28.9 ล้านเมตริกตัน 17.2 ล้านเมตริกตัน และ 8.2 ล้านเมตริกตันตามลำดับเมื่อเทียบกับตัวเลขผลผลิตของฤดูกาลก่อน ซึ่งอยู่ที่ 34.3 ล้านเมตริกตัน 17.9 ล้านเมตริกตัน และ 14.5 ล้านเมตริกตันตามลำดับ ในช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูกระหว่างปี 2562-2563 นั้น มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วราคาน้ำตาลกลับดิ่งลงเกือบ 6% นับจากต้นปีนี้ โดยมีสาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก
มีการคาดการณ์ว่าในฤดูกาลหน้านั้น ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกอาจจะมีต่ำกว่าความต้องการถึง 1.1 ล้านตัน โดยเป็นการประมาณการณ์ของ Patricia Luis-Manso หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ตลาดการเกษตรและเชื้อเพลิงชีวภาพขององค์กร S&P Global Platts ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับการประมาณของ John Stansfield นักวิเคราะห์ชำนาญการของบริษัท Group Sopex ในขณะที่ทางฝั่งของ Raissa Cury Pires da Silva หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดน้ำตาลอเมริกาของบริษัท ED&F Man นั้นได้พยากรณ์ว่าทั่วโลกจะเจอกับสภาวะปริมาณน้ำตาลล้นตลาดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง
องค์กร S&P Global Platts ระบุว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกมีการลดลงอยู่แล้วก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น ส่วนโรคระบาดนั้นทำให้ความต้องการน้ำตาลของฤดูกาลที่แล้วลดลง 2.5 ล้านตันเมื่อเทียบกับการประมาณการณ์ก่อนเกิดวิกฤติโควิด และคาดว่าความต้องการน้ำตาลจะลดลงไปอีกเรื่อยๆ โดยยุโรปเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งความต้องการน้ำตาลลดลงมากที่สุด โดยคาดว่าความต้องการจะลดต่ำลงถึง 500,000 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าการประมาณการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป
ผลผลิตน้ำตาลอาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2563-2564
ตามรายงานเกี่ยวกับสภาวะตลาดและการค้าน้ำตาลทั่วโลกของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกานั้นได้มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลในช่วงปี 2563-2564 จะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 188 ล้านเมตริกตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น 21.8 ล้านเมตริกตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562-2563 มีการทำนายว่าผลผลิตจากประเทศบราซิล อินเดีย และไทยจะฟื้นตัวกลับมา โดยคาดว่าผลผลิตน้ำตาลในบราซิลจะเพิ่มขึ้นไปถึง 39.5 ล้านเมตริกตันจากความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปเพราะมีการนำผลผลิตจากอ้อยมาแปรรูปเป็นน้ำตาลมากกว่าเอทานอล ราคาน้ำมันเบนซินในปัจจุบันที่ลดต่ำลงทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลซบเซา จึงทำให้ผู้ผลิตเปลี่ยนไปผลิตน้ำตาลแทนเอทานอล ส่งผลให้สัดส่วนการผลิตของน้ำตาลต่อเอทานอลในปัจจุบันอยู่ที่ 46% และ 54% เมื่อเทียบกับตัวเลข 35% และ 65% ของช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พื้นที่เพาะปลูกบางแห่งได้รับน้ำฝนมากกว่าปีที่แล้ว 20% เข้ามาช่วยขจัดภัยแล้งที่เกิดต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เรียกว่าน้ำฝนเข้ามาช่วยไว้แท้ๆ ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่าฝนจะช่วยให้อ้อยโตเร็วมากขึ้นหรือไม่” มีการประมาณการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของไทยจะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 12.9 ล้านเมตริกตัน โดยมีสาเหตุจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และคาดว่าปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนจะเข้ามาช่วยฟื้นฟูพืชผลที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก่อนหน้านี้ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนของประเทศในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากระดับฝนที่สูงกว่าปีที่แล้ว และมีการพยากรณ์ว่าเมื่อถึงเดือนตุลาคมปริมาณฝนก็จะเริ่มลดน้อยลงในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่หลักสำหรับเพาะปลูกอ้อยของไทย มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปีของประเทศไทย
เมื่อกลับมามองบราซิล ที่อาจมีแนวโน้มจะผลิตน้ำตาลมากกว่าเอทานอลในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวระหว่างปี 2563-2564 จึงคาดว่าผลผลิตน้ำตาลของบราซิลจะเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 9 ล้านเมตริกตันเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลเกินตลาดโลกอยู่เป็นจำนวน 5 ล้านเมตริกตันในช่วงปี 2563-2564 ที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้แม้ว่าราคาน้ำมันและค่าเงินเรียลบราซิลที่กำลังฟื้นตัวในช่วงปีนี้อาจจะทำให้ราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นได้บ้าง แต่ปริมาณน้ำตาลที่คาดว่าจะล้นตลาดก็จะไปกดดันราคาของน้ำตาลในช่วงฤดูกาลหน้า ซึ่งในฤดูกาลนี้ โรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ของบราซิลได้เปลี่ยนสัดส่วนการผลิตไปที่น้ำตาลเป็นหลักเนื่องจากน้ำตาลมีราคาจำหน่ายสูงกว่า เอทานอลอยู่พอสมควรและสร้างผลกำไรได้มากกว่า นี่ถือเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะจากสภาวะน้ำตาลล้นตลาดโลกเมื่อไม่นานมานี้ทำให้โรงงานต่างๆ หันไปผลิตเอทานอลมากกว่าน้ำตาล โดยมีสัดส่วนการผลิตน้ำตาลต่อ เอทานอลอยู่ที่ 45.92% เมื่อเทียบกับตัวเลขของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 33.31%
ทั้งนี้ Plinio Nastari หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัท Datagro ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านน้ำตาลและเอทานอลคาดว่าสภาพอากาศที่รุนแรงของบราซิลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดน้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำอ้อยและน้ำตาลจะลดต่ำลงในช่วงฤดูกาลถัดไปของปีหน้า มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยในพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ของบราซิลจะอยู่ที่ 575 ล้านตันในช่วงเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2564 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เมื่อเทียบกับตัวเลขผลผลิต 596 ล้านตันในปัจจุบัน คาดว่าโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ของบราซิลจะมีผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 36 ล้านตันในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 เมื่อเทียบกับตัวเลข 38 ล้านตันในปัจจุบัน
เขากล่าวว่า “โรงงานน้ำตาลจะต้องเลื่อนกำหนดการหีบอ้อยในปีหน้าออกไปก่อนเพื่อรอให้ต้นอ้อยฟื้นตัวกลับมา” ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงผลกระทบอันเหนือความคาดหมายที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศของบราซิลในปีนี้ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตร แต่ปริมาณผลผลิตที่ลดต่ำลงเพียงเล็กน้อยก็น่าจะยังทำให้โรงงานน้ำตาลสามารถทำกำไรได้ในฤดูกาลถัดไป เพราะราคาน้ำตาลและเอทานอลกำลังอยู่ในจุดที่ใกล้ทำสถิติใหม่เมื่อคิดเป็นค่าเงินเรียลบราซิล จากการที่ราคาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้โรงงานผลิตน้ำตาลสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามจากผลผลิตที่มีการทำสัญญาซื้อขายไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง นักวิเคราะห์มองว่าโรงงานน้ำตาลของบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกจะสามารถสร้างรายได้ในปริมาณมหาศาลได้เป็นเวลาถึงสามปีติดต่อกันหากดูจากสัญญาณชี้วัดในปัจจุบัน
ในส่วนของสมาคมโรงงานผลิตน้ำตาลของอินเดีย (ISMA) ระบุว่า ผลผลิตน้ำตาลในประเทศอินเดียจะเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 31 ไปอยู่ที่ 31 ล้านตันในช่วงฤดูกาลตลาดของปี 2563-2564 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนนี้เนื่องจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยฤดูกาลน้ำตาลจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกันยายน ทางไอเอสเอ็มเอคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูกาลของปี 2563-2564 นั้น ปริมาณผลผลิตน้ำตาลในประเทศจะอยู่ที่ 33 ล้านตัน ซึ่งเป็นการคำนวณจากจำนวนอ้อยที่จะถูกหีบในโรงงานน้ำตาลของฤดูกาลนี้ แต่ทางสมาคมโรงงานผลิตน้ำตาลของอินเดียก็คาดว่าการนำน้ำอ้อยและกากน้ำตาลประเภทบีไปใช้ในการผลิตเอทานอลจะทำให้สูญเสียน้ำตาลไป 2 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลโดยรวมจะคงเหลืออยู่ที่ 31 ล้านตัน
ตัวเลขนี้ถือเป็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนซึ่งมีปริมาณอยู่ที่ 27.4 ล้านตัน โดยมีปัจจัยหลักถึง 48% มาจากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของรัฐมหาราษฏระที่ขยายตัวขึ้น นอกจากนี้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในบริเวณอื่น ๆ ของอินเดียก็มีการขยายตัวเช่นเดียวกัน เช่นในรัฐกรณาฏกะและรัฐคุชราต แต่พื้นที่เพาะปลูกในรัฐอุตตรประเทศและทมิฬนาฑูกลับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้น้ำฝนจากมรสุมในเกือบทุกรัฐของอินเดียอยู่ในปริมาณมาก ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งก็เต็มเปี่ยม ทำให้คาดว่าผลผลิตของอ้อยจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลคงค้างจากปีที่แล้วมีอยู่ถึง 10.6 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นจำนวนที่มากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศถึง 5.5 ล้านตันสำหรับช่วงหลายเดือนถัดไปก่อนที่จะถึงฤดูกาลจำหน่ายน้ำตาลตามท้องตลาด โดยทางสมาคมโรงงานผลิตน้ำตาลของอินเดียได้ระบุไว้ว่า “ตามที่เราคาดการณ์ไว้ว่าผลผลิตน้ำตาลของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2562-2563 ทำให้อินเดียต้องส่งออกน้ำตาลส่วนเกินออกไปให้ได้อีกราวๆ 6 ล้านตันในช่วงเวลาดังกล่าว”
คาดการณ์การบริโภคน้ำตาลจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2562-2563
กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2562-2563 ซึ่งคิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 6.2 ล้านเมตริกตัน และจะทำให้ตัวเลขการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 177 ล้านเมตริกตันเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562-2563 โดยมีการทำนายว่าปริมาณการบริโภคจะค่อยๆ ฟื้นตัวเนื่องจากวิกฤติไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ คาดกันว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศอินเดีย รัสเซีย ปากีสถาน และอียิปต์จะเพิ่มขึ้นราว 28.5 ล้านเมตริกตัน 6.2 ล้านเมตริกตัน 5.8 ล้านเมตริกตัน และ 3.3 ล้านเมตริกตัน ตามลำดับ ส่วนตัวเลขปริมาณการบริโภคน้ำตาลในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกราว 11.1 ล้านเมตริกตัน และ 4.38 ล้านเมตริกตันตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลของจีน สหภาพยุโรป และบราซิลคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ก็มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลในอินโดนีเซีย บังกลาเทศ มาเลเซีย เกาหลีใต้ แอลจีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2562-2563 และการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทาน กิจกรรมค้าขาย และเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักเพราะมาตรการจำกัดการเดินทาง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกในช่วงปี 2562-2563 แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มต้นที่จะผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่ และได้ริเริ่มนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกับการป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมในระลอกใหม่ ท่ามกลางการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตตามวิถีปกติใหม่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัว และเราจะมีวิธีการรักษาโรคระบาดนี้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในช่วงปี 2563-2564 มีแนวโน้มที่สดใสมากขึ้น