จับตาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย-อินโด
ทิศทางของน้ำตาลในตลาดโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่าการการระบาดของโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกแต่การรับมือในประเทศต่างๆ จะไม่เหมือนกับปีที่ผ่านมา เพราะในปีนี้ได้มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้สามารถนำมาใช้ได้ในหลายประเทศทั่วโลก คาดว่าจะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และกระตุ้นการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้น หากพูดถึงผู้ผลิตรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกยังคงเป็นบราซิลที่ครองอันดับหนึ่ง และบราซิลจะไม่ได้มุ่งผลิตน้ำตาลอย่างเดียว แต่ส่งเสริมการผลิตเอทานอลอีกด้วย และบราซิลเองก็หันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ส่งออกสินค้าน้ำตาลสำคัญอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ซึ่งโดยรวมแล้ว ในฤดูกาลปี 2563/64 ผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลก คาดว่าจะสูงขึ้นประมาน 10-40% โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร กรรมการสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวภายในงานสัมมนาออนไลน์ AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA digital talks ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดโดยเฉลี่ย 4% โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนประชากรคิดเป็น 40% ในกลุ่มปะเทศอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอินโดนีเซียมีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 60 แห่ง และใน 41 แห่ง รัฐบาลจะเป็นเจ้าของกิจการ ในขณะที่ 19 แห่งที่เหลือจะเป็นของเอกชน อินโดนีเซียมีความต้องการบริโภคน้ำตาลมากกว่า 5 ล้านตันทุกปี ในการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการบริโภคเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลต้องมีแผนในการเพิ่มการผลิตน้ำตาลในประเทศ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ
ซึ่งรัฐตั้งเป้าหมายเพื่อให้อินโดนีเซียมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น ต้องมีการพิจารณาปัจจัยความท้าทายต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้การบรรลุเป้าหมายเป็นได้ อาทิเช่น ปัญหาพื้นที่ปลูกอ้อยลดลง ผลผลิตอ้อยลด การแข่งขันของพืชชนิดอื่นๆ การขาดแคลนการวิจัยอ้อย ปัญหาเงินทุน ปัญหาด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งอ้อยไปยังโรงงานน้ำตาล เป็นต้น
ซึ่งจากรายงานล่าสุด ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ได้นำเข้าน้ำตาลในปริมานรวมกันแล้วเกือบ 10 ล้านตัน นำเข้าอันดับหนึ่งคือ อินโดนีเซีย ที่มียอดนำเข้าน้ำตาลสูงสุดประมาน 5.6 ล้านตัน รองลงมาคือ มาเลเซีย ในปริมานราวๆ 2.0 ล้านตัน ในขณะที่พม่า พบว่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องนำเข้าน้ำตาลเพิ่ม แต่ก็มีรายงานด้วยเช่นกันว่า นอกจากการนำเข้าแล้ว พม่ายังสามารถผลิตน้ำตาลได้เพียงพอในประเทศได้ เช่นเดียวกันกับเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่วนบรูไนและสิงคโปร์มีรายงานว่า ยังไม่มีการผลิตน้ำตาลในท้องถิ่น ทำให้ต้องนำเข้า ส่วนประเทศไทยแน่นอนว่ามีการผลิตอ้อยและน้ำตาลอันดับ 1 ในอาเซียน แต่เมื่อสองปีที่แล้วก็ได้ลดลงไปบ้าง แต่ผลผลิตของประเทศไทยก็ยังมากกว่าของประเทศอื่นๆ ประมาน 56.4% ต่อจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย 15.8%
ซึ่งหากจะมีการพัฒนาเกี่ยวกับธุรกิจน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงจะต้องพิจารณาจากปัจจัยความท้าทายสำคัญๆ เช่น การลงทุนที่สูง อัตรายิลด์ในอ้อยที่ต่ำ เงินต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาแรงงานเพาะปลูกอ้อย เป็นต้น เพื่อที่จะนำมาประเมินและพัฒนาต่อไปได้ แต่หลักๆ ก็คือ ควรต้องมีการสนับสนุนเงินทุนและค่าใช้จ่ายของเทคโนโลยีกระบวนการผลิตอ้อยและโลจิสติกส์ มุ่งเน้นธุรกิจน้ำตาลสู่เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน
ผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย
ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยมี 58 แห่ง รวมกำลังการผลิต 1.2 ล้านตันต่อวัน มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 1.7 ล้านเฮกตาร์ ฤดูหีบปี 2562/63 ไทยเผชิญภาวะภัยแล้งหนักทำให้ผลผลิตอ้อยร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 74.98 ล้านตัน น้ำตาลทรายเหลือเพียง 8.27 ล้านตัน ส่วนปัญหาที่กระทบผลผลิตอ้อยในปัจจุบันนี้ ก็ยังคงเป็นสภาพอากาศที่แห้งแล้งถึงแม้จะมีปริมานน้ำฝนที่ดีในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงปัญหาราคาอ้อยที่ต่ำ การลดลงของพื้นที่ปลูกอ้อย และอาจจะยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การหีบอ้อยนั้นล่าช้า และเมื่อดูเปอร์เซ็นต์การเพาะปลูกพืชโดยรวม อ้อยมีส่วนแบ่งการแข่งขันในการปลูกเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น ๆ เป็นอันดับ 4 หรือ 8% ในขณะที่พืชคู่แข่งสำคัญอย่างมันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์การปลูก 6%
นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ผลผลิตน้ำตาลประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563-2564 มีการประเมินว่า จะมีผลผลิตน้ำตาลประมาน 65-67 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วประมาน 75 ล้านตัน กล่าวได้ว่า นี่คือการลดลงของผลผลิตน้ำตาลที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการบริโภคน้ำตาลในประเทศ มีการประเมินว่า การบริโภคน้ำตาลในปี 2021 จะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปี 2020 จากตัวเลขคาดการณ์การบริโภค 2.40 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่มีตัวเลขการบริโภคน้ำตาลไป 2.32 ล้านตัน เป็นผลมาจากการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นกว่าช่วงแรก ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังไปต่อได้ ส่วนการส่งออกคาดว่าลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว