จีนพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเกษตรในปากีสถาน
การสร้างเส้นทางขนส่งเชิงกลยุทธ์ระดับภูมิภาคและระดับโลกในปัจจุบันได้นำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางภูมิยุทธศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของความร่วมมือรูปแบบดังกล่าวที่ส่งผลดีอย่างมหาศาลแก่ทั้งสองฝ่าย
ภาคการเกษตรของปากีสถานยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นประเทศจีนภายใต้ CPEC จึงได้ยื่นมือเข้ามาฟื้นฟูภาคการเกษตรของประเทศปากีสถานและต่อสู้กับความท้าทายด้านความไม่มั่นคงทางอาหาร
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนเริ่มเผยแพร่ “เอกสารกลางหมายเลข 1” สำหรับปี 2566 ซึ่งวางพันธกิจ 9 ข้อในการส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทอย่างรอบด้านในปีนี้ ความคิดริเริ่มด้านนโยบายนี้แสดงให้เห็นถึงการเปิดประเทศอีกครั้งของปากีสถานในการร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมภาคการเกษตรที่มีศักยภาพสูง ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลโดยร่วมมือกับจีนในครั้งนี้
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างปากีสถานและจีนนี้ ทำให้ความร่วมมือด้านอวกาศและการเกษตรของปากีสถานกับจีนมีความก้าวหน้าไปอีกขั้นเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่ทางการจีนได้ส่งเมล็ดจากพันธุ์ปากีสถาน 7 สายพันธุ์ไปยังสถานีอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะส่งคืนไปยังปากีสถานในการทดลองด้านความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่
ความคิดริเริ่มนี้แสดงให้เห็นว่าโครงการอวกาศของจีนเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในขณะที่จีนก็ได้ขยายการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของปากีสถานให้มีความทันสมัยมากขึ้น
ภาคการเกษตรได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก CPEC ผ่านการพัฒนาที่มีผลเชื่อมโยงไปข้างหลัง (backward linkage) และไปข้างหน้า (forward linkage) เกษตรกรรมเป็นหัวใจสำคัญของประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเกษตรกรรมจะเป็นแหล่งรายได้หลักและการจ้างงานในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของปากีสถานได้เผชิญกับความยากลำบากอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา
แผนระยะยาวของ CPEC วางแนวทางการพัฒนาที่สำคัญให้กับภาคการเกษตรของปากีสถานซึ่งมีศักยภาพสูงโดยมุ่งเป้ายกระดับการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ ภายใต้แผนนี้จะเน้นไปที่การเพิ่มการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยและปุ๋ยสังเคราะห์เพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงสร้างพื้นที่เก็บและแปรรูปอาหารเพื่อลดของเสียหลังการเก็บเกี่ยวอย่างมีนัยสำคัญ
ในขณะเดียวกัน การสร้างสถานีห้องเย็นและโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ก็อยู่ในแผนเพิ่มผลผลิตของภาคปศุสัตว์และประมงนอกเหนือจากทำให้ผลผลิตสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้นแล้ว การเป็นหนึ่งในประเทศในโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ปากีสถานยังได้รับประโยชน์จากการพึ่งพาการนำเข้าอาหารที่เพิ่มขึ้นของจีนและการเปลี่ยนไปสู่การเพิ่มมูลค่าสูงในภาคการเกษตรอย่างค่อยเป็นค่อยไป
จีนกำลังวางแผนที่จะเอาต์ซอร์สการเกษตรในรูปแบบของการร่วมทุน ซึ่งรวมถึงการลงทุนและพัฒนาพื้นที่แปรรูป คลังสินค้า ฟาร์มโคนม และสถานีห้องเย็นในปากีสถาน โดยเมื่อปลายปีที่แล้วภาคการเกษตรของปากีสถานได้รับการผลักดันภายใต้ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างจีนกับปากีสถาน ซึ่งรับรองว่าการเกษตรของปากีสถานจะเติบโตขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ทั่วทั้งประเทศ
จากความร่วมมืออย่างรอบด้านภายใต้ CPEC Green Corridor ตลอดปี 2565 ภาคการเกษตรของปากีสถานมีการเติบโตอย่างโดดเด่นที่ 4.4% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 3.5% และ 3.48% ในช่วงปีงบประมาณ 2565
ด้วยการเกษตรระหว่างจีนกับปากีสถานขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 สินค้าเกษตรของปากีสถานที่ส่งออกไปยังจีนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2565 มีมูลค่าสูงถึง 730 ล้านดอลลาร์ โดยเพิ่มขึ้น 28.59% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนในปีถัดไปจะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1 พันล้านดอลลาร์
จากความสำเร็จครั้งสำคัญของภาคการเกษตรในปี 2565 นั้น ในปี 2566 ความร่วมมือ CPEC Green Corridor จะยังคงมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก การจัดการน้ำ การเข้าถึงตลาดที่เป็นแหล่งปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องจักรในฟาร์ม สินเชื่อ น้ำ) และแหล่งรับซื้อผลผลิตให้มากขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงสถานที่จัดเก็บและทำความเย็น การลดของเสียหลังการเก็บเกี่ยว การลงทุนวิจัย พัฒนาและต่อยอดมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงคุณภาพและการปฏิบัติตามข้อกำหนดการกักกันสำหรับตลาดต่างประเทศและความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพืชรอง (minor crop) แต่มีมูลค่าสูง ผลผลิตจากฟาร์มและประสิทธิผลของตลาด
การประกาศระเบียงใหม่ 3 แห่งภายใต้ CPEC ซึ่งรวมถึง China-Pakistan Green Corridor (CPGC) ที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารนั้น แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือด้านการเกษตรใน CPEC อย่างมีนัยสำคัญ
ตามรายงานข่าวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงสาธิต 65 แห่งในแคว้นปัญจาบ สินธ์ และไคเบอร์ปัคตูนควาที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีการปลูกพืชแซมแบบสลับแถบระหว่างข้าวโพดกับถั่วเหลืองของจีนเมื่อไม่นานมานี้ ให้ผลผลิตข้าวโพดกับถั่วเหลืองสูงถึง 8,490 กก. และ 889 กก. ต่อเฮกตาร์ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียวในแปลงสาธิต 65 แห่ง ซึ่งได้ปริมาณ 8,995 กก. และ 1,531 กก. ต่อเฮกตาร์ตามลำดับ เทคโนโลยีการปลูกพืชแบบผสมผสานจึงสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย
ข่าวดีก็คือนักวิจัยกำลังพัฒนาระบบการปลูกพืชแซมแบบสลับแถบระหว่างข้าวโพดกับถั่วลิสง ข้าวโพดกับถั่ว อ้อยกับถั่วเหลือง อ้อยกับมัสตาร์ด ข้าวสาลีกับมัสตาร์ด ข้าวสาลีกับถั่วเหลือง ข้าวสาลีกับถั่วลูกไก่ มันฝรั่งกับข้าวโพด และคาโนลากับถั่ว
การพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งในภาคการเกษตรเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2565 เมื่อศูนย์ความร่วมมือด้านการเกษตร (Agriculture Cooperation Center: ACC) ของ CPEC ที่จัดขึ้นใหม่ ณ มหาวิทยาลัยเพื่อการเกษตรในพื้นที่แห้งราวัลปินดี (Arid Agriculture University Rawalpindi: AAUR) ประกาศจะทำวิจัยเชิงนโยบาย ช่วยเหลือธุรกิจจีนด้านภาคการเกษตร และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบัน ปากีสถานยังพิจารณาที่จะส่งเสริมการผลิตกล้วยด้วยความร่วมมือจากจีนอีกด้วย
นอเชอร์วัน ไฮเดอร์ ซีอีโอของ สปรอต์ ไบโอเทค แลบอราทอรีส์ (Sprouts Biotech Laboratories) กล่าวว่า ปากีสถานส่งออกกล้วยในตลาดโลกน้อยกว่า 0.5% ในขณะที่จีนมีส่วนแบ่งประมาณ 4.5%
เชื้อพันธุกรรมฝ้าย (cotton germplasm) เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญในความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างปากีสถานกับจีน เป็นเวลาหลายปีที่จีนและปากีสถานได้ร่วมมือกันในด้านการรวบรวมและระบุแหล่งเชื้อพันธุกรรมฝ้าย
เพื่อที่จะประเมินว่าเชื้อพันธุกรรมฝ้ายใดทนทานต่อความร้อน ความแห้งแล้ง โรคและแมลงศัตรูพืชในสถานที่และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ สถาบันวิจัยฝ้าย (Institute of Cotton Research: ICR) แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตร สาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Agricultural Sciences: CAAS) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยฝ้าย (Cotton Research Institute: CRI) เมืองมุลตาน มหาวิทยาลัยเกษตรไฟซาลาบาด (University of Agriculture Faisalabad: UAF) และมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ
ในเดือนกรกฎาคม 2565 วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะสมัยใหม่เทียนจิน (Tianjin Modern Vocational Technology College: TMVTC) จากประเทศจีนและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ (MNS-University of Agriculture: MNSUAM) จากมุลตาน ประเทศปากีสถานได้ลงนามในข้อตกลงออนไลน์สำหรับโครงการฝึกอบรมเครื่องจักรกลการเกษตรของโครงการศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน (Luban Workshop) ในปากีสถาน สถาบันทั้งสองจะร่วมกันสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในด้านเครื่องจักรกลการเกษตร แหล่งเชื้อพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมทางการเกษตร โดยเมื่อต้นปีนี้ ชาง จีซู จากบริษัทเสฉวน ลี่ตง ฟูด จำกัด (Sichuan Litong Food Co., Ltd.) ประกาศว่าบริษัทของเขาจะจัดทำสวนสาธิตการปลูกพริกไทยขนาด 1,000 เอเคอร์ในเมืองมุลตานระหว่างฤดูกาลเพาะปลูก 2565-2566
ด้วยความร่วมมือกับธุรกิจการเกษตรในท้องถิ่นและเกษตรกรในปากีสถาน บริษัทฯ ตั้งใจที่จะปลูกพริกไทยมากกว่า 15,000 เอเคอร์ในแคว้นเซาท์ ปัญจาบ โดยมีแผนเก็บเกี่ยวพริกไทยแห้ง 30,000 ตัน และบริษัทฯ จะสร้างโรงงานแปรรูปพริกไทยสองแห่งในเมืองละฮอร์และเมืองมุลตาน โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการหาพื้นที่ที่เหมาะสม
ปากีสถานยังพยายามที่จะปลูกข้าวฟ่างเนื่องจากเป็นพืชที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นทั่วโลกเช่นเดียวกับอาหารพื้นฐานหลักสามชนิดของโลก ดังนั้นความร่วมมือภายใต้ CPEC จึงสร้างโอกาสเป็นอย่างมากให้ปากีสถานได้รับเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ ๆ จากจีนและปฏิวัติภาคการเกษตรของตน