ดูไบเปิดตัวการลงทุนอุตฯ น้ำตาลในภูมิภาคอเมริกาใต้
ดูไบได้ส่งสัญญาณความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลกับสาธารณรัฐกายานา ซึ่งเป็นประเทศในแผ่นดินใหญ่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ การแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลนี้ เริ่มต้นจากสมาชิกของคณะผู้แทนแปดคนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่ได้ไปเยือนกายานาในเดือนพฤศจิกายน นำทีมโดยท่านเชค อาหเมด ดัลมุค อัล มัคตูม สมาชิกราชวงศ์แห่งรัฐดูไบได้เข้าพบกับประธานาธิบดีของกายานา ดร. อิรฟาน อะลี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล และได้มีการร่วมหารือเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซ โครงสร้างพื้นฐานและการเกษตร
นายซุลฟิกา มุสตาฟา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของกายานา ได้เข้าร่วมการประชุมและกล่าวกับสำนักข่าวเดอะ กายานา โครนิเคิลว่า เขาได้เน้นย้ำถึงโอกาสด้านการเกษตรให้แก่นักลงทุนโดยเฉพาะเรื่องน้ำตาล “พวกเขาแสดงถึงความตั้งใจจริงที่จะลงทุน จึงมีการกลับมาเยือนอีกครั้งของกลุ่มคณะในการเยี่ยมชมที่ดินและพื้นที่ต่างๆ โดยมีทีมจาก GuySuCo หรือ บริษัท กายานา ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้นำชมสถานที่ ซึ่งคณะผู้มาเยือนได้ไปเยี่ยมชมและตรวจสอบพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว” รัฐมนตรีมุสตาฟากล่าวระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษกับเดอะ กายานา โครนิเคิล
กลุ่มผู้มาเยือนส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญผู้ซึ่งมีภารกิจเฉพาะในด้านการวิเคราะห์การดำเนินงาน และความเป็นไปได้ของพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลของกายานา “ผมได้พูดคุยกับพวกเขาหลังจากที่พวกเขาได้ไปเยี่ยมชมพื้นที่ ซึ่งพวกเขาก็ดูมีความสนใจมาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมว่าพวกเขาเป็นบุคลากรด้านเทคนิค ไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย ดังนั้น ไม่ว่าผู้เยี่ยมชมกลุ่มนี้จะสังเกตเห็นหรือได้รับข้อมูลอะไรก็ตาม พวกเขาก็ต้องเอากลับไปรายงานต่อผู้กำหนดนโยบายอีกที แต่พวกเขาก็มีความประทับใจในอุตสาหกรรมน้ำตาลของกายานาทั้งในด้านการลงทุน และด้านอื่นๆ” รมว. เกษตรฯ กล่าว อุตสาหกรรมน้ำตาลไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับดูไบ เพราะดูไบเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำตาลที่มีท่าเรือส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งก็คือ บริษัท อัล คาลีจ ชูการ์
ดูไบยังเป็นที่รู้จักเกี่ยวกับการประชุมน้ำตาลที่ดูไบ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จากนั้นก็ได้กลายมาเป็นงานที่ผู้คนรอคอยมากที่สุดในโลกของอุตสาหกรรมน้ำตาล งานประชุมนี้เป็นเวทีสำหรับผู้ผลิตน้ำตาลชั้นน้ำ โรงกลั่นน้ำตาล ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า ผู้ค้า ผู้ใช้น้ำตาลในอุตสาหกรรมต่างๆ สถาบันการเงินและนักวิเคราะห์ บริษัทขนส่งสินค้าและผู้ให้บริการจากทั่วทุกมุมโลก โดยมาเพื่อร่วมกันพิจารณาและกำหนดแนวทางการดำเนินการในอนาคต องค์ความรู้ที่ดูไบได้ทำการรวบรวมสั่งสมมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะทำให้สามารถเข้าถึงอุตฯ กายานาได้ในไม่ช้า ขณะที่กายานาก็มีความสนใจเป็นพิเศษอยู่แล้วที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศที่ซบเซา ให้กลับมาดีขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
แผนงานต่างๆ กำลังมีการดำเนินการคืบหน้าไป ไม่เพียงแต่เพื่อเป็นการจ้างพนักงานให้กลับเข้ามาทำงานใหม่เท่านั้น แต่เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยการบริหารจัดการที่มีการประสานงานร่วมกัน และเป็นไปอย่างระมัดระวังรอบคอบ ซึ่งก็คาดหวังว่าจะเป็นความร่วมมือกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GuySuCO และ Sasenarine Singh ได้รับรายงานว่ารัฐบาลได้รับเอกสารแจ้งความจำนงว่ามีความสนใจเข้าร่วมหรือ Expressions of Interest (Eols) จำนวน 10 ฉบับจากบริษัทต่างชาติและข้อเสนอโครงการจำนวนหนึ่งฉบับจากนักลงทุนท้องถิ่นที่มีความสนใจในส่วนของโรงกลั่นน้ำตาล การผลิตเอทานอล พลังงานจากการเกษตร โรงกลั่นและโรงงานบรรจุหีบห่อน้ำตาล
ตามที่ระบุในแผนบริหารจัดการของบริษัท วิสัยทัศน์ของ GuySuCo คือการมุ่งเน้นไปที่การขยายการขายน้ำตาลบรรจุหีบห่อไปในประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (CARICOM) แถบอเมริกาเหนือ รวมถึงตลาดท้องถิ่นต่างๆ แผนการจัดการของ GuySuCo สำหรับปี พ.ศ. 2564 คือ การผลิตน้ำตาลจำนวน 97,000 ตัน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่คาดการณ์สำหรับน้ำตาลบรรจุหีบห่อ
“เราต้องผลิตสินค้าออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย เราไม่สามารถผลิตแค่ทรายดิบและน้ำตาลทรายแดงแล้วอยู่รอดได้ แต่ต้องผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างเช่น น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เอทานอล รวมถึงมีการปรับปรุงคุณภาพของกากน้ำตาล ปรับปรุงโรงงานร่วมผลิตที่เมืองสเกลดอน เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่เราจะต้องทำ และเราจะต้องลดต้นทุนการผลิตด้วย” รมว. เกษตรฯ กล่าว
เป้าหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของกายานาคือ การนำอุตสาหกรรมไปสู่จุดคุ้มทุนและก้าวไปสู่ระดับความสามารถในการทำกำไรด้วยการลงทุนและการบริหารจัดการอย่างระมัดระวังรอบคอบ “หากทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเป้า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมหวังว่าเราจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ด้วยระบบการบริหารจัดการในแบบที่ผมอยากให้เป็น ผมได้ออกการแจ้งเตือนแก่ผู้จัดการแต่ละฝ่ายว่าพวกเขาจะต้องมีการลงพื้นที่ พวกคุณจะต้องลงไปปรับปรุงถึงวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้มั่นใจตั้งแต่กระบวนเริ่มเพาะปลูกจนถึงตอนเก็บเกี่ยวว่าจะได้อ้อยที่มีคุณภาพ โดยมีค่าอัตราส่วนปริมาณอ้อยต่อปริมาณน้ำตาล (tc/ts) สูง” นายซุลฟิกา มุสตาฟา กล่าว นี่คือเส้นทางที่อุตสาหกรรมจะรับไปดำเนินการร่วมกันผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป้าหมายก็จะไปปรากฏในทุกๆ พื้นที่ทั่วประเทศในสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน