น้ำตาลเอเชีย

อุตฯ น้ำตาลพม่าฟื้นตัว รับอานิสงส์น้ำตาลในตลาดโลก

ติฮาทาน (U Thi Ha Tun) เลขาธิการสมาคมผลิตภัณฑ์น้ำตาลและอ้อยของพม่า เปิดเผยว่า ราคาน้ำตาลที่ผลิตได้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากคลังในประเทศเริ่มหมดและยังคงมีน้ำตาลนำเข้าอยู่น้อย จะเห็นได้ชัดว่าในปีนี้ราคาน้ำตาลในตลาดต่างประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจและตลาดน้ำตาลในประเทศก็ดูเหมือนจะมีแนวโน้มเช่นเดียวกัน ปัจจุบันพม่ามีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 4 ล้านเอเคอร์ และคาดการณ์ว่าโรงงานจะรับซื้ออ้อยประมาณ 4.2 ล้านตันในฤดูกาลนี้ เนื่องจากอุปสงค์น้ำตาลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เปลี่ยนไป เนื่องจากพม่าต้องเผชิญกับภาวะปริมาณน้ำตาลในประเทศล้นตลาดมานานหลายปีก่อนที่อุปสงค์จะพุ่งสูงขึ้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นเพราะภาษีอากรที่ไม่ดึงดูดใจและข้อกำหนดทางศุลกากรที่เข้มงวดทำให้การส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศจีนหยุดชะงักลงในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ขณะเดียวกันเกษตรกรชาวไร่อ้อยในประเทศก็ลดการผลิตลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป

เขากล่าวว่า “การปลูกอ้อยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมามีมูลค่าที่สูงเนื่องจากอ้อยมีราคาอยู่ที่ 50,000 จ๊าดต่อตัน และมีค่าแรงที่ลดลง” โรงงานน้ำตาลภายในประเทศจะสามารถแข่งขันกันได้ก็ต่อเมื่ออ้อยมีราคารับซื้ออยู่ที่ 45,000 จ๊าดต่อตันหรือถูกกว่านั้น

ผู้ผลิตน้ำตาลซื้ออ้อยในช่วงกลางเดือนธันวาคมและโรงงานจะดำเนินการผลิตน้ำตาลภายในฤดูกาลอ้อยปี พ.ศ. 2563-2564 ณ ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลในเขตพะโคตะวันออกและตะวันตกกำลังดำเนินการผลิตอยู่ ส่วนโรงงานทางตอนเหนือและตอนใต้ของรัฐฉานและเขตซากาอิงกำลังจะเปิดดำเนินการในเร็วๆ นี้

อูวินเท (U Win Htay) รองประธานสมาคมฯ คาดเดาว่า “พม่าจะสามารถส่งออกน้ำตาลที่ผลิตภายในประเทศไปยังจีนและเวียดนามได้ เนื่องจากอุปทานที่ไม่เพียงพอ ราคาน้ำตาลจึงจะเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” กรมวิชาการเกษตรระบุว่าเนื่องจากมีการปลูกอ้อยครอบคลุมพื้นที่ 438,420 เอเคอร์ทั่วประเทศในปีนี้ ทำให้โรงงานน้ำตาลของพม่าคาดว่าจะหีบอ้อยจำนวน 4.2 ล้านตันในฤดูกาลอ้อยปี พ.ศ. 2563-2564

สมาคมระบุว่า ก่อนหน้านี้ พม่าส่งออกน้ำตาลทรายดิบซึ่งเป็นน้ำตาลทรายไม่บริสุทธิ์ซึ่งผลิตจากอ้อยไปยังจีน แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการนำเข้าและการปราบปรามการค้าที่ผิดกฎหมาย เกษตรกรจึงค่อยๆ ยุติการปลูกอ้อยไปเป็นจำนวนมาก ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่อยู่วงในคาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในปีงบประมาณ 2563-2564 จะลดลงเหลือเพียง 350,000 เอเคอร์หรือลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับ 7 ปีที่แล้วและต่ำเป็นประวัติการณ์ในภาคอุตสาหกรรม

ในขณะเดียวกัน พม่าก็นำเข้าน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลในพม่าเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ทการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากโรงงานน้ำตาลทั้งหมดจำนวน 29 แห่ง ในปีงบประมาณ 2562 – 2563 พม่านำเข้าน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กว่า 57,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ประมาณร้อยละ 40-50 เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นและข้อจำกัดที่รัฐบาลกำหนด

เพื่อฟื้นฟูตลาดน้ำตาลภายในประเทศ พม่าควรลงทุนในการยกระดับโรงงานภายในประเทศและการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์อ้อยที่มีคุณภาพสูงขึ้น ปัจจุบันธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายในประเทศได้รับอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ได้ตามความต้องการและประเทศนำเข้าน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากประเทศไทยเพียงแห่งเดียวจำนวน 10,000 ตัน

แต่นโยบายเหล่านี้สามารถและควรมีการเปลี่ยนแปลง อูวินเท (U Win Htay) กล่าวว่า “หากมีอุปสงค์คือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ รัฐบาลควรกำหนดนโยบายใหม่เพื่อยกระดับโรงงานภายในประเทศอย่างน้อยสองแห่งให้สามารถแปรรูปน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ได้ หากกิจการภายในประเทศต้องใช้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ก็จะสามารถทำสัญญากับโรงงานเหล่านี้ในการจัดหาน้ำตาลได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้า”